การแบ่งมรดกที่มีคู่สมรส

29 ก.ย. 2023 | บทความ

การแบ่งมรดกที่มีคู่สมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2563 (หน้า 36 เล่ม 12) โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของพันเอก ก. จำเลยยังมิได้แบ่งปันมรดกของพันเอก ก.ให้แก่โจทก์และน้องๆ และจนถึงบัดนี้จำเลยก็ยังจัดการมรดกของพันเอก ก.ไม่แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกของพันเอก ก. และมีคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนแบ่งมรดกให้โจทก์ 1 ใน 7 ส่วน และให้กำจัดจำเลยไม่ให้ได้รับทรัพย์มรดกของพันเอก ก. กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งหกแปลงอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์โดยจำเลยไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดหรือครอบครองไว้ แต่เป็นการฟ้องจำเลยเพื่อขอแบ่งทรัพย์มรดกของพันเอก ก.ให้แก่โจทก์โดยตรง คดีย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
พันเอก ก.และ ฐ.จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากนั้นมีการซื้อที่ดินร่วมกันโดยใส่ชื่อของ ฐ.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในที่ดินทุกแปลงที่ร่วมกันซื้อมาร่วมถึงที่ดินพิพาททั้งหกแปลงในคดีนี้ด้วย ที่ดินพิพาททั้งหกแปลงที่ร่วมกันซื้อมาจึงเป็นสินสมรส ต่อมาพันเอก ก.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งหกแปลงจึงต้องแบ่งแก่ ฐ.กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1625(1) อีกกึ่งหนี่งเป็นมรดกของพันเอก ก.ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม คือ ฐ.ในฐานะคู่สมรสและบุตรอีก 6 คน ที่มีโจทก์และจำเลยรวมอยู่ด้วยคนละ 1 ใน 7 ส่วน เท่าๆ กัน ตามมาตรา 1629(1) และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 1635(1) แต่ก่อนพันเอก ก.แก่ความตาย ฐ.จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 14765, 14767 และ 113348 ให้แก่โจทก์ หลังพันเอก ก.ถึงแก่ความตาย ฐ.จดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ฐ.คนละกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 14766 และ 7043 โดยโจทก์ไม่มีการโต้แย้งว่ามีส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. กับไม่มีการเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของพันเอก ก.ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท กลับยอมรับในการใช้สิทธิโดยเด็ดขาดตามอำเภอใจของ ฐ.แต่ฝ่ายเดียว พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่า ฐ.ครอบครองที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว หาใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นไม่ ฐ.ซึ่งไม่ใช่ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์หรือทายาทอื่นว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์มรดกแทนอีกต่อไป และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งหกแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย ที่ดินพิพาททั้งหกแปลงจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ฐ.แต่เพียงผู้เดียว ฐ.ย่อมมีสิทธิยกที่พิพาททั้งหกแปลงซึ่งรวมส่วนที่เป็นมรดกของพันเอก ก.ด้วยให้แก่จำเลย จำเลยในฐานะส่วนตัวย่อมรับมาซึ่งสิทธิที่ ฐ.มีอยู่และชอบที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ในฐานะผู้สืบสิทธิของ ฐ.ตามมาตรา 1755 กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง และวรรคท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่พันเอก ก.ถึงแก่ความตายหรือโจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตาย ทั้งยังเกินกำหนดสิบปีนับแต่พันเอก ก.ถึงแก่ความตายอีกด้วย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ