การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร

การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร

4 ส.ค. 2017 | บทความ

การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 กันยายน, 2559 : 75 – 86.) สุพัตรา  แผนวิชิต[1] บทคัดย่อ โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกลุ่มคดีเปรียบเทียบปรับ ศึกษาถึงการจัดตั้งศาลจราจรในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของประเทศไทยและวิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร วิธีการดำเนินการวิจัย ใช้วิธีศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมและผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจทั่วไป ผลการวิจัยพบว่า เนื่องมาจากปัญหาปริมาณใบสั่งที่มีจำนวนมากและขาดการติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ได้รับใบสั่งอย่างจริงจัง ปัญหาการใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และปัญหาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และผู้วิจัยได้เสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …  และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง  พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …  เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว มุ่งแก้ไขไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ ส่งผลเป็นการป้องกันอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม และลดปัญหาการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ           คำสำคัญ   ศาลจราจร , การจัดตั้งศาล , คดีจราจร The objective of the Project on Research into “Establishment of Traffic Court in Bangkok Metropolitan Region” is to study the nature of the problems in traffic law enforcement and proceedings in Bangkok Metropolitan Region, especially in the case category of fine penalty settlement, studying establishment of Traffic Courts in foreign countries, as to be models in feasibility study of Thailand and analysis of approach to establish the Traffic Court in Bangkok Metropolitan Region. The research methodology employs qualitative methods of qualitative research by using Documentary Research and In-depth Interview and organizing a seminar for presenting  the report on the research and drafting the approaches to establishment of the Traffic Court in Bangkok Metropolitan Region and hearing opinions and suggestions from the operatives in the judicial system, traffic law enforcement officers and officials in relevant agencies, scholars, luminaries and interested people in general. The results of the Research and Study find that, due to the problem of a tremendous number of the tickets, whose offenders have not been actively proceeded against, the problem of exercise of discretion in the inquiry officials’ fine penalty settlement, which leads to unfair discriminatory treatment, and the problem of the sanctity of the law, which fails to a cause deterrent effect among people, resulting in numerous transgressions and violations of the law. Additionally, the Researcher recommends: enacting the Amendment to the Road Traffic Act, B.E. 2522  (No. … ), B.E. …; and enacting the Amendment to the Act on Establishment of District Court and District Court Procedure, B.E. 2499 (No. … ), B.E. …, as to provide with convenience and expedition for trial of traffic cases, focus on prevention of recidivism, resulting in the traffic problems being materially prevented and solved, and the problems of corruption among the public officials being reduced.           keywords       Traffic Court , Court Establishment , Traffic Case ความเป็นมาและสภาพปัญหา กฎหมายจราจรโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นกฎเกณฑ์ที่บัญญัติให้ทันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยียานยนต์และสภาพการจราจร เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิค เพื่อมุ่งจัดระเบียบทางสังคม และจากการที่บทบัญญัติของกฎหมายจราจรมีลักษณะเป็นคำสั่งหรือข้อห้ามของเจ้าพนักงานของรัฐหรือเป็นระเบียบข้อบังคับของสังคม ความผิดจราจรส่วนใหญ่จึงเป็นความผิดเล็กน้อย กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถกลั่นกรองความผิดเบื้องต้นให้คดีเลิกกันได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล  โดยการว่ากล่าวตักเตือนหรือการเปรียบเทียบปรับ การปฏิบัติตามกฎหมายจึงมักจะถูกละเลยหรือมีการกระทำความผิดจราจรมากขึ้น และปัญหาที่สำคัญที่ทำให้การจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุจราจร มาจากการที่ผู้ใช้รถใช้ถนนกระทำผิดกฎหมายจราจรเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงาน องค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะรักษา ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่งผลความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย หากพิจารณาจากสถิติการออกใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรในปี 2556 ที่ผ่านมาพบว่า มีสถิติการออกใบสั่งจราจรแก่ผู้กระทำความผิดจราจรไปจำนวน 1,601,734 ใบสั่ง แต่ปรากฏว่ามีผู้มาเสียค่าปรับเพียง  647,114 ใบสั่ง  คิดเป็นร้อยละ 40 เท่านั้น ยังขาดอีก 954,620 ใบสั่ง  ที่ปรากฏว่าไม่มีผู้มาเสียค่าปรับ  ส่งผลให้รัฐต้องเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก  สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายกับความผิดจราจรขาดประสิทธิภาพ ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากยังปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งด้านการวางระบบบริหารและด้านการวางระบบปฏิบัติการให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็จะทำให้เกิดวิกฤติปัญหาการจราจรในอนาคตอันใกล้        ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของระบบเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ นอกจากนั้น หากพิจารณาถึงจำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก พบว่า[2] ปี 2554  จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก รับแจ้งทั้งหมด  35,817 คดี  บาดเจ็บ  7,923  ราย เสียชีวิต 358 คน มีมูลค่าทรัพย์สินเสียหายจำนวน 82,131,923 บาท ปี 2555  จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก  รับแจ้งทั้งหมด  32,381 คดี  บาดเจ็บ  7,241  ราย เสียชีวิต 291 คน  มีมูลค่าทรัพย์สินเสียหายจำนวน 117,724,747 บาท ปี 2556  จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก รับแจ้งทั้งหมด  28,904 คดี  บาดเจ็บ  6,403  ราย เสียชีวิต 266 คน  มีมูลค่าทรัพย์สินเสียหายจำนวน 79,026,555 บาท ปี 2557  (มกราคม – กรกฎาคม) จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก  รับแจ้งทั้งหมด 12,960 คดี  บาดเจ็บ  3,595 ราย  เสียชีวิต 120 คน มีมูลค่าทรัพย์สินเสียหายจำนวน 40,481,587 บาท          จากข้อมูลดังกล่าว การเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดการติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ได้รับใบสั่งอย่างจริงจัง ปัญหาการใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ปัญหาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชนได้ ทำให้มีการฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการกระทำความผิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา หากพิจารณาถึงหลักการและเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลจราจร สมมติฐานในเบื้องต้นได้ว่า คดีจราจรควรมีกระบวนการพิจารณาคดีเป็นพิเศษโดยเฉพาะ การพิจารณาต้องรวดเร็วและเป็นธรรม มุ่งแก้ไขไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายอันเป็นการสร้างวินัยจราจรที่ดี  การจัดตั้งศาลจราจรจะทำให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรได้รับการพิจารณาโทษจากรัฐโดยมาตรการที่มีประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นเป็นธรรมแก่ประชาชน จะส่งผลให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวและกระทำผิดลดลง นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการปรับปรุงพฤติกรรมและสร้างวินัยในการจราจร การใช้รถใช้ถนน ผู้ขับขี่จะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ทำให้สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการลดปัญหาการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย สำหรับแนวทางการกำหนดนโยบายเรื่องการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานครนั้น  ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลและเสนอแนวทางไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม  ซึ่งสำนักศาลยุติธรรมยังมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นในการจัดตั้ง  โดยสำนักงานศาลยุติธรรมมองว่า  การจัดตั้งศาลยุติธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง ลดระยะเวลาและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรม การจัดตั้งศาลจราจรขึ้นเป็นพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนที่กระทำผิดกฎหมายจราจร และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการงานจราจร โดยกำหนดให้ต้องนำคดีจราจรมาฟ้องศาลจราจรนั้น สวนทางกับทิศทางในการบริหารจัดการคดีสมัยใหม่ที่ให้มีการลดปริมาณคดีอาญาบางประเภทที่จะขึ้นสู่ศาล โดยไม่กระทบกระเทือนถึงระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบกับการกระทำผิดกฎหมายจราจรเป็นความผิดเล็กน้อยไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรง การนำคดีจราจรไปสู่ศาลจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาคดีอื่นๆ ทำให้คดีล่าช้าและสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งภาครัฐและประชาชน การแก้ปัญหาการกระทำผิดกฎหมายจราจรที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในปัจจุบัน สามารถทำได้ด้วยการนำมาตรการอื่นมาบังคับใช้กฎหมายจราจรให้เข้มงวด เช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยการถ่ายภาพผู้กระทำผิดกฎจราจร การควบคุมและตรวจสอบใบสั่งด้วยคอมพิวเตอร์ การงดรับชำระภาษีรถประจำปี หรือการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ ซึ่งสามารถช่วยลดการฝ่าฝืนกฎจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ข้อโต้แย้งจากสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าวนี้จึงนำมาซึ่งความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันถึงหลักการ เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร  ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดในการจัดตั้งศาลจราจรในประเทศไทยในหลายประเด็น  โดยผลจากการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เห็นควรให้มีการจัดตั้งศาลจราจรเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายจราจรโดยให้จัดตั้งในเขตกรุงเทพมหานครที่ปัญหาจราจรและมีปริมาณคดีเป็นจำนวนมากก่อน แต่การศึกษาวิจัยที่ผ่านมายังขาดโมเดลของการจัดตั้งศาลจราจรของต่างประเทศที่ควรนำมาปรับใช้กับประเทศไทย อีกทั้งข้อเสนอแนะในงานวิจัยยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้าง เขตอำนาจศาล คุณสมบัติของผู้พิพากษา วิธีพิจารณาคดีจราจร การเปรียบเทียบปรับและอำนาจของพนักงานสอบสวน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดงานจราจรดังกล่าว จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยถึงแนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร  เพื่อให้มีองค์กรและระบบการจัดการคดีจราจรที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การกระทำความผิดจราจรและปัญหาอุบัติเหตุจราจรลดน้อยลง วัตถุประสงค์การวิจัย
  •  เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกลุ่มคดีเปรียบเทียบปรับ
  • เพื่อศึกษาถึงการจัดตั้งศาลจราจรในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของประเทศไทย
  • เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รูปแบบโครงสร้าง เขตอำนาจศาล คุณสมบัติของผู้พิพากษา วิธีพิจารณาคดีจราจร การเปรียบเทียบปรับและอำนาจของพนักงานสอบสวน
 ขอบเขตการวิจัย ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มุ่งศึกษาและวิเคราะห์ในประเด็นเกี่ยวกับ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจราจร  สถิติและข้อมูลการกระทำความผิด การบังคับใช้ การดำเนินคดีและปัญหาการบังคับใช้กฎหมายจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในกลุ่มคดีเปรียบเทียบปรับ และการบังคับใช้กฎหมายจราจรและศาลจราจรในต่างประเทศ ขอบเขตด้านประชากร ประชากรในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interviewing)  ได้แก่ บุคคลในระดับผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมและผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร จำนวน 12 คน ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยสามารถนำข้อมูลความเห็นดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อไป  และประชากรในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นคือ ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมและผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร ได้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจทั่วไป ขอบเขตด้านพื้นที่ศึกษา พื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร วิธีการดำเนินการวิจัย  การดำเนินงานจะใช้วิธีดำเนินการศึกษาวิจัย ดังนี้ 1.การวิจัยเอกสาร (Documentary research) เป็นการวิจัยข้อมูลเอกสารที่เป็นรายงานวิจัย หนังสือ ตำรา เอกสารรายงานการประชุมสัมมนา ข้อมูลจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในประเด็นเกี่ยวข้อกับการวิจัย กล่าวคือ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจราจร สถิติและข้อมูลการกระทำความผิด  กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีจราจร  การบังคับใช้กฎหมายจราจรและการดำเนินคดีจราจรในประเทศไทย แนวคิดการจัดตั้งศาลจราจรในประเทศไทย  การจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษของประเทศไทย  การบังคับคดีจราจรและศาลจราจรในต่างประเทศ 2.การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interviewing) เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ศึกษาตามประเด็นสัมภาษณ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะใช้ในการวิเคราะห์วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพวิธีอื่นโดยมีประชากรสัมภาษณ์ เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informant)  ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจราจร ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 16 คน สุ่มตัวอย่างของพื้นที่เป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานคร และนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกมาใช้วิเคราะห์แนวทางในการศึกษาเพื่อจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานครต่อไป 3.การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอรายงานการวิจัยและร่างแนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมและผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจทั่วไป ผลการวิจัย จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า แนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร มีหลักการและเจตนารมณ์ กล่าวคือ ปัญหาจราจรในปัจจุบันเกิดจากปัญหาปริมาณใบสั่งที่มีจำนวนมากและขาดการติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ได้รับใบสั่งอย่างจริงจัง ปัญหาการใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทำให้เกิดปัญหาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชนได้ ทำให้มีการฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการกระทำความผิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา จึงควรให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเห็นผลในทางปฏิบัติ  โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งจะต้องมาชำระเงินค่าปรับที่ศาล ภายหลังจากกำหนดเวลาในการชำระค่าปรับ จะทำให้ได้ผลในเชิงข่มขู่ยับยั้งการกระทำความผิด และเป็นการลดปัญหาการคอรัปชั่นในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น เป็นการสมควรที่ต้องกำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรขึ้นเป็นพิเศษต่างหากจากคดีอาญาโดยทั่วไป เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว มุ่งแก้ไขไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายอันเป็นการสร้างวินัยจราจรที่ดี นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นธรรมแก่ประชาชน ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวและกระทำผิดลดลง ปัญหาจราจรก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ทำให้สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการลดปัญหาการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีแนวทางการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร มีดังนี้           การจัดตั้งและรูปแบบ รูปแบบของการจัดตั้งศาลจราจรนั้น  เนื่องจากการจัดตั้งเป็นศาลใหม่ อาจยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ ด้วยปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง งบประมาณ สถานที่และบุคลากร ประกอบกับหากพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายจราจรของต่างประเทศจะพบว่า ส่วนใหญ่จะไม่ได้จัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลเฉพาะ แต่เป็นการใช้ศาลที่พิจารณาคดีเล็กน้อยเป็นศาลที่พิจารณาคดีจราจร โดยการจัดตั้งเป็นแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลดังกล่าวและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแบบรวบรัดและรวดเร็วกว่าคดีประเภทอื่น ตัวอย่างเช่น  ในประเทศสหรัฐอมริกา ที่อำนาจในการพิจารณาคดีจราจรจะเป็นไปตามกฎหมายของมลรัฐ  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแยกเป็นแผนกหนึ่งของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีจำกัด เช่น ศาลเทศบาล (Municipal Courts) เช่น ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และเมืองซานฟรานซิสโก  หรือในประเทศฝรั่งเศสที่การดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับการจราจรที่อยู่ในส่วนของความผิดลหุโทษ (Les contraventions) ได้กำหนดให้ศาลแขวง (Tribunal de Police)  มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี  หรือในประเทศญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่แล้วการดำเนินคดีความผิดจราจรจะกระทำแบบรวบรัดและอยู่ในอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลแขวง (The District Court)  ผู้วิจัยจึงเห็นว่าแนวคิดและรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ควรจัดตั้งเป็นแผนกคดีจราจรในศาลแขวง  เนื่องจากคดีจราจรในกลุ่มของการเปรียบเทียบปรับที่เป็นคดีที่งานวิจัยนี้ต้องการมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงและศาลแขวงก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีประเภทนี้อยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องกำหนดวิธีพิจารณาคดีสำหรับคดีจราจรเป็นการเฉพาะ เพื่อให้คดีสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เช่นเดียวกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะมีการกำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขกฎหมายสามารถกระทำได้โดย ประการแรก การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …   เพื่อกำหนดช่องทางให้เจ้าพนักงานคดีจราจรจะต้องนำส่งใบสั่งที่ไม่มีชำระค่าปรับตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นต่อศาล เพื่อให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งต้องไปแสดงตนและชำระค่าปรับที่ศาล และประการที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง  พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …  เพื่อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมวดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจราจร เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรในกลุ่มของการเปรียบเทียบปรับมีความชัดเจน รวดเร็วและเป็นธรรม ประเภทคดีที่กำหนด ประเภทคดีที่กำหนดในวิธีพิจารณาคดีจราจรที่กำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ 1.คดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเนื่องจากการคมนาคมและขนส่งทางบกได้เจริญก้าวหน้าขยายตัวไปทั่วประเทศและเชื่อมโยงไปยังประเทศใกล้เคียง และจำนวนยานพาหนะในท้องถนนและทางหลวงได้ทวีจำนวนขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนและพิธีสารว่าด้วยเครื่องหมายและสัญญาณตามถนน  จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกซึ่งได้ใช้บังคับมากว่าสี่สิบปี ให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรและจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น และเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน 2.พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้น เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย 3.พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้ประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 นับเป็นเวลาเกือบห้าสิบปีแล้ว และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วประมาณยี่สิบครั้ง อย่างไรก็ดียังมีบทบัญญัติอีกหลายมาตราที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพการณ์ของบ้านเมือง สมควรปรับปรุงเสียใหม่ให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วคดีความผิดเกี่ยวกับจราจรที่มีปริมาณขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมากและมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด ได้แก่ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยเฉพาะในกลุ่มของคดีเปรียบเทียบปรับ ดังนั้น ในการกำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรจึงมุ่งแก้ไขในประเด็นดังกล่าว โดยแยกคดีออกเป็น 2 ประเภทคือ 1)ความผิดที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ที่ต้องกำหนดระยะเวลาในการนำใบสั่งไปชำระค่าปรับตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 141 และหากเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดงกล่าวแล้ว ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบสั่งจะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลเท่านั้น โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานคดีจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวน ส่งคู่ฉบับใบสั่งนั้นไปยังศาลที่มีเขตอำนาจภายใน  48  ชั่วโมงนับจากสิ้นระยะเวลาการชำระค่าปรับตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับใบสั่งได้ทราบวันนัดให้ไปศาลแล้ว  ทั้งนี้ ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดดังกล่าว  ไม่ว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธความผิดก็ตาม แต่หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไม่มาศาลตามเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกได้ ในการบังคับใช้กฎหมายกับประเภทคดีในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  ให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกันในสองประเด็นคือ การแก้ไขกำหนดให้เจ้าพนักงานคดีจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนต้องนำส่งใบสั่งที่ไม่มีผู้มาชำระค่าปรับตามเวลาที่กำหนดไปยังศาล  และการแก้ไขกำหนดช่องทางและวิธีการชำระค่าปรับที่มีความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกในการชำระค่าปรับตามใบสั่งให้แก่ประชาชนควบคู่กันไป เช่น การชำระค่าปรับผ่านสถาบันการเงิน ชำระผ่านตัวแทนรับชำระเงิน หรือการชำระผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เช่น  บัตรเครดิต  ระบบ e-banking  เป็นต้น โดยแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด 2)ความผิดที่ห้ามเปรียบเทียบปรับ ได้แก่ ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งความผิดประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง เว้นแต่คดีความผิดตามมาตรา 160 ตรีวรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่  กล่าวคือ –   ความผิดตามมาตรา 157/1 ในกรณีผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา 43 ทวิ ในความผิดเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา 43 ตรีในความผิดเกี่ยวกับการขับรถขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น –  ความผิดตามมาตรา 159 ในกรณีผู้ขับขี่ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่เคลื่อนย้ายรถที่หยุดหรือจอดอยู่อันเป็นการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้เคลื่อนย้ายรถ หรือมิให้ใช้เครื่องมือบังคับรถมิให้เคลื่อนย้ายตามมาตรา 59 วรรคสอง รวมทั้งกรณีการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเครื่องมือบังคับรถมิให้เคลื่อนย้าย หรือเคลื่อนย้ายรถที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือบังคับมิให้เคลื่อนย้ายตามมาตรา 59 วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวน –  ความผิดตามมาตรา 160  ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดเกี่ยวกับขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามมาตรา 78 และในกรณีความผิดเกี่ยวกับการขับขี่ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ (มาตรา 43 (1)) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย (มาตรา 43 (5))   หรือโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น (มาตรา 43 (8)) – ความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง หรือเป็นผู้จัด สนับสนุน หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง  ตามมาตรา 160 ทวิ – ความผิดตามมาตรา 160 ตรี ในกรณีการขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น (มาตรา 43 (2))  อำนาจของเจ้าพนักงานในการเปรียบเทียบปรับ  การเปรียบเทียบคดีเป็นวิธีการที่กฎหมายให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานในการใช้ดุลพินิจในการที่จะพิจารณาความผิดและกําหนดโทษผู้กระทําผิดโดยในความผิดบางประเภทเพื่อให้คดีเลิกกัน เป็นลักษณะของการใช้อํานาจหน้าที่กึ่งตุลาการ  และการที่คดีสามารถยุติได้ในชั้นพนักงานสอบสวน จะทำให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและการทุจริต นำมาซึ่งปัญหาการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยฉ้อฉล โดยเจ้าพนักงานอาจใช้การเปรียบเทียบคดีเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้กระทําผิดหรือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีอาญาในความผิดบางฐานและเป็นช่องทางในการเรียกรับประโยชน์เพื่อแลกกับการกระทำ หรือไม่กระทำการใด ๆ โดยมิชอบ  แต่อย่างไรก็ดี  เห็นว่ามีความจำเป็นต้องคงอำนาจในการเปรียบเทียบปรับในคดีจราจรของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  ไว้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการเปรียบเทียบปรับที่ต้องการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรม เป็นการใช้อำนาจในทางบริหารเพื่อกลั่นกรองคดีสู่ศาล  ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐในการลดปริมาณคดีสู่ศาล ที่มุ่งเน้นกลไกในการลดปริมาณคดี  ที่มองว่าการขยายตัวของสภาพสังคมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นและผลจากการที่มีประชากรในประเทศมีจำนวนมากมากขึ้น  ทำให้มีการใช้กฎหมายและศาลเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการระงับข้อพิพาทและอาจใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์บางประการ ส่งผลให้คดีความเข้าสู่การพิจารณาของศาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี  จึงจำเป็นต้องส่งเสริมมาตรการหรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล วิธีพิจารณาคดีจราจร หลักการสำคัญของวิธีพิจารณาคดีจราจร จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพ ตลอดจนจากการศึกษารูปแบบการบังคับใช้กฎหมายจราจรของต่างประเทศ  จึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักการสำคัญของวิธีพิจารณาคดีจราจรที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยการกำหนดรูปแบบการบังคับใช้ไว้ในกรณีการจัดตั้งแผนกคดีจราจรให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลแขวง  โดยร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ …) พ.ศ. …เพิ่มหมวดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจราจร และกำหนดให้ความผิดดังกล่าวหากผู้กระทำความผิดไม่ยอมชำระค่าปรับตามใบสั่งจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาลในการพิจารณาคดี เพื่อให้ผู้กระทำความผิดตระหนักถึงความสำคัญของการถูกดำเนินคดี ซึ่งมีขั้นตอนมาก ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าการนำไปสั่งไปชำระผ่านช่องทางตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม หากระบบศาลจราจรของประเทศไทยได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลเฉพาะอย่างเต็มรูปแบบ ก็สามารถนำวิธีพิจารณาคดีจราจรตามแนวทางที่คณะผู้วิจัยกำหนดไปบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายจัดตั้งศาลศาลจราจรและวิธีพิจารณาคดีจราจรได้  เนื่องจากหลักการส่วนใหญ่รองรับการจัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลเฉพาะอยู่แล้ว คุณสมบัติของผู้พิพากษา ประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้พิพากษาเห็นว่า องค์กรศาลเป็นองค์กรที่มีระบบการคัดเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาที่มีความเป็นอิสระและเป็นมาตรฐานเดียวกันตามที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการบรรจุข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  และหากพิจารณาลักษณะของคดีจราจรซึ่งเป็นการกำหนดความผิดในลักษณะความผิดที่เกิดจากข้อห้าม หรือ Mala Prohibita  ที่มีลักษณะเป็นกฎหมายเทคนิคตราขึ้นเพื่อการจัดระเบียบทางสังคมและรักษาวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน จะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีจราจรจึงไม่ใช่เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนหรือต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ  จึงเห็นว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลแขวงย่อมสามารถพิจารณาคดีได้เป็นอย่างดี ข้อจำกัดในการจัดตั้งศาลจราจร ในกรณีหากจัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลชำนัญพิเศษ โดยการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจราจรฯ  พบว่าอาจมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ  ข้อจำกัดด้านการจัดตั้งหน่วยงานรัฐใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553  เรื่องมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยายหน่วยงานและขั้นตอนการขอจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ  ข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรของศาลที่จำเป็นต้องมีการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและรองรับการปรับโครงสร้างศาลจราจร ให้สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนย่างเป็นระบบรองรับปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดด้านสถานที่ ที่ต้องมีการเตรียมการเรื่องสถานตั้งศาลให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการงานคดีของศาล การให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ข้อเสนอแนะ ข้อเสนอแนะในการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ได้มุ่งเสนอแนะเพื่อให้การพิจารณาคดีและพิพากษาในคดีความผิดจราจรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการดำเนินคดี และให้องค์กรศาลมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดประสิทธิภาพในการลงโทษผู้กระทำความผิด ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความยุติธรรมและเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด  ผู้วิจัยได้เสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …  เพื่อกำหนดช่องทางให้เจ้าพนักงานคดีจราจรจะต้องนำส่งใบสั่งที่ไม่มีชำระค่าปรับตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นต่อศาล เพื่อให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งต้องไปแสดงตนและชำระค่าปรับที่ศาล และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง  พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ … ) พ.ศ. …  เพื่อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมวดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจราจร เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรในกลุ่มของการเปรียบเทียบปรับมีความชัดเจน รวดเร็วและเป็นธรรม มีรายละเอียดและสาระสำคัญดังนี้ ก.ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … 1.หลักการและเหตุผลในการตรากฎหมาย เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณใบสั่งที่มีจำนวนมากและขาดการติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ได้รับใบสั่งอย่างจริงจัง  ปัญหาการใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และปัญหาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชนได้ ทำให้มีการฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการกระทำความผิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา จึงควรให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเห็นผลในทางปฏิบัติ  โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งจะต้องมาชำระเงินค่าปรับที่ศาล ภายหลังจากกำหนดเวลาในการชำระค่าปรับ จะทำให้ได้ผลในเชิงข่มขู่ยับยั้งการกระทำความผิด 2.หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … 2.1)  เพื่อกำหนดช่องทางให้เจ้าพนักงานคดีจราจรจะต้องนำส่งใบสั่งที่ไม่มีชำระค่าปรับตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นต่อศาล เพื่อให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งต้องไปแสดงตนและชำระค่าปรับที่ศาล โดยความผิดที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ที่ต้องกำหนดระยะเวลาในการนำใบสั่งไปชำระค่าปรับตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 141 และหากเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบสั่งจะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลเท่านั้น  โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานคดีจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวน ส่งคู่ฉบับใบสั่งนั้นไปยังศาลที่มีเขตอำนาจภายใน  48  ชั่วโมงนับจากสิ้นระยะเวลาการชำระค่าปรับตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับใบสั่งได้ทราบวันนัดให้ไปศาลแล้ว  ทั้งนี้ ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดดังกล่าว  ไม่ว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธความผิดก็ตาม แต่หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไม่มาศาลตามเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกได้ 2.2)  แก้ไขเพื่อกำหนดรายละเอียดในใบสั่งให้มีข้อมูลและรายละเอียดแห่งการกระทำความผิดที่เพียงพอต่อการเป็นคำฟ้องในคดีจราจร โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องบันทึกรายละเอียดสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดทั้งในใบสั่งและคู่ฉบับใบสั่ง อาทิ ชื่อ  นามสกุล  ที่อยู่ หมายเลขและสถานที่ออกใบขับขี่ ในกรณีพบตัวผู้ขับขี่ ชื่อ นามสกุล สังกัดของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบสั่ง  หมายเลขทะเบียนรถ ประเภท ชนิดรถ และสีของรถ  การกระทำอันเป็นรายละเอียดของความผิด วัน เวลาและสถานที่กระทำความผิด กำหนดระยะเวลาในการชำระค่าปรับ  ชื่อศาลและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าปรับที่ศาล ลายมือชื่อผู้ออกใบสั่ง ลายมือชื่อผู้ขับขี่ และวันที่ออกใบสั่ง 2.3)  การแก้ไขกำหนดช่องทางและวิธีการชำระค่าปรับที่มีความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกในการชำระค่าปรับตามใบสั่งให้แก่ประชาชน เช่น การชำระค่าปรับผ่านสถาบันการเงิน ชำระผ่านตัวแทนรับชำระเงิน หรือการชำระผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เช่น  บัตรเครดิต  ระบบ e-banking  เป็นต้น  โดยแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด ข.ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … 1.หลักการและเหตุผลในการตรากฎหมาย เนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายจราจรส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การดำเนินคดีจะอยู่ในอำนาจของศาลแขวง และในระยะเริ่มต้นการจัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลชำนัญพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะนั้นอาจปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง งบประมาณ สถานที่และบุคลากร ประกอบกับหากพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายจราจรของต่างประเทศจะพบว่า ส่วนใหญ่จะไม่ได้จัดตั้งศาลจราจรเป็นศาลเฉพาะ แต่เป็นการใช้ศาลที่พิจารณาคดีเล็กน้อยเป็นศาลที่พิจารณาคดีจราจร โดยการจัดตั้งเป็นแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลดังกล่าวและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแบบรวบรัดและรวดเร็วกว่าคดีประเภทอื่น ดังนั้น เป็นการสมควรกำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในศาลแขวงขึ้นเป็นพิเศษต่างหากจากคดีอาญาโดยทั่วไป เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว มุ่งแก้ไขไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายอันเป็นการสร้างวินัยจราจรที่ดี  นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นธรรมแก่ประชาชน ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวและกระทำผิดลดลง ปัญหาจราจรก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ทำให้สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม และลดปัญหาการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ 2.หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … 2.1)  กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมวดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจราจร เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรในกลุ่มของการเปรียบเทียบปรับมีความชัดเจนรวดเร็วและเป็นธรรม 2.2)  ประเภทคดีที่กำหนดในวิธีพิจารณาคดีจราจรที่กำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 2.3)  กำหนดห้ามมิให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีจราจร เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี เจ้าพนักงานจะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และชื่อที่อยู่ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหนเท่านั้น 2.4)  กำหนดให้คู่ฉบับใบสั่งคดีจราจรที่ออกโดยเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พนักงานอัยการได้นำส่งต่อศาล ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องในการตั้งต้นคดี โดยมิพักต้องทำการสอบสวนก่อน และเมื่อพนักงานอัยการได้นำส่งคู่ฉบับใบสั่งคดีจราจรมายื่นต่อศาล ให้ศาลตรวจคู่ฉบับใบสั่งคดีจราจรแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง 2.5)  กำหนดห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้มีการแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง เว้นแต่จำเลยได้ทราบถึงข้อความที่ขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมฟ้องนั้นแล้ว และการแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้นไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี 2.6) กำหนดให้ในกรณีเมื่อศาลประทับฟ้องและจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดภายใน 7 วัน ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่แล้ว และให้ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกจำเลยมาศาลและมีอำนาจออกหมายจับจำเลย และในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่มาศาลนั้นเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ กำหนดให้อำนาจศาลในการแจ้งไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เพื่อให้งดการดำเนินการทางทะเบียนสำหรับรถคันนั้นไว้ จนกว่าศาลจะแจ้งให้ทราบว่าจำเลยมาศาลแล้ว 2.7) กำหนดวิธีพิจารณาคดี  การนัดพิจารณา การซักถามพยาน การนั่งพิจารณาคดี การสืบพยาน  การวดสืบพยาน และการพิพากษาคดีที่เน้นกระบวนการที่รวดเร็ว อาทิ การให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้อง หรือในกรณีจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีไปได้ในวันนั้น 2.8) กำหนดเรื่องการการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่คู่ความหรือบุคคลใดในคดีจราจร โดยศาลอาจสั่งให้ดำเนินการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน ความสะดวกรวดเร็ว ความเหมาะสมตามสภาพแห่งคดีตามหลักเกณฑ์ในประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ 2.9) กำหนดให้ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ศาลมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป บรรณานุกรม กรวีร์  ภาตะนันท์ , ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจราจรในศาลแขวงแผนกคดีจราจร, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ , 2541 กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , “องค์ความรู้ปัญหาและสาเหตุการจราจรในเมือง” ในคู่มือปฏิบัติงานด้านการจราจร,”http://pknow.edupol.org/Course/C3/Karnpolice _group /subj_traffic/tf1/home.html สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2558 กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , “องค์ความรู้ยุทธวิธีในการจับกุมผู้กระทําความผิดกฎหมายจราจร” ในคู่มือปฏิบัติงานด้านการจราจร.http://pknow.edupol.org/Course /C3/Karnpolice_group/subj_traffic/tf1/home.html สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2557 กอบกูล จันทวโร , “ระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและระบบกฎหมายไทย” , เอกสารเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ส. , www.oncb.go.th , หน้า 1. โกเมน ภัทรภิรมย์, “การฟ้องคดีอาญาในประเทศฝรั่งเศส,” อัยการนิเทศ, เล่มที่ 32 ฉบับที่ 1 (2513), หน้า 178. คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) , ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจร , http://www.nrlcthailand.org/. คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “การบังคับใช้โทษทางอาญาประเภทอื่นที่มิได้มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย” , 2554. ชาญเชาวน์ ไชยยานุกิจ , “คำฟ้องของพนักงานอัยการ”, เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษ เรื่อง ระบบอัยการญี่ปุ่น : แนวคิดและทิศทางในการปฏิรูประบบอัยการไทย แปลจาก Tomoko Sasaki, The Criminal Justice in Japan – Prosecution, UNAFEI, 99th Seminar , 23 มกราคม , 2540. เชษฐภัทร  พรหมชนะ , “การนำมาตรการอื่นมาใช้บังคับนอกเหนือจากการกักขังแทนค่าปรับ ” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2546. ดรุณ โสตถิพันธ์ . การบริหารงานกระบวนทางยุติธรรมทางอาญา. วารสารอัยการ.  ปีที่ 5, ฉบับที่ 51 มีนาคม 2525. ธิรพันธุ์ รัศมิทัต, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส  (กรุงเทพมหานคร : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ธิรพันธุ์ รัศมิทัต, 2541. ธีรยุทธ โลหะเลิศกิจ , ปัญหาในการเปรียบเทียบคดี : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากับกฎหมายอื่น , วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2555. นิสิต พันธมิตร และคณะ , โครงการ “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กับประชาชนในด้านการจราจร” , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2555. น้ำแท้  มีบุญสล้าง .“การใช้อำนาจตุลาการโดยประชาชน”. จุลนิติ (กันยายน – ตุลาคม 2552) : 47 – 52. พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์ . “ความเหมาะสมในการบัญญัติความผิดลหุโทษไว้ในประมวลกฎหมายอาญา.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536. พิทยา  กิจติวรานนท์ , ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  ศึกษาเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ) , วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, 2551 พุทธกาล รัชธร , คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยเรื่องโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจจราจร   โดยนำเสนอต่อที่ประชุมการสัมมนาระดับชาติ เรื่องอุบัติเหตุจราจรครั้งที่ 9 วันที่ 20-21 สิงหาคม 2552  กรุงเทพฯ ไพโรจน์ วายุภาพ,  คู่มือปฏิบัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม , กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรรัชการพิมพ์, 2543. ภาณุ  เกิดลาภผล , พล.ต.ต., ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลจราจรในประเทศไทย,วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, 2552 มณฑลทัฬห์ บุนนาค , ทัศนะของผู้ขับรถยนต์และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อการกำหนดกฎหมายวิธีพิจารณาความสำหรับคดีจราจรขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร , วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต คณะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2538 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชานิติศาสตร์.  เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารงานยุติธรรมเปรียบเทียบขั้นสูง . นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555. สมยศ  วัฒนภิรมย์, “การรอการลงโทษและการรอการกำหนดโทษปรับ,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สาขานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536 . สหธน  รัตนไพจิตร . “ความประสงค์ของการลงโทษอาญา : ศึกษาเฉพาะประเทศไทยสมัยใช้กฎหมายลักษณะอาญาและประมวลกฎหมายอาญา” . วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ , 2546. สาโรจน์  คุ้มทรัพย์ . การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สาขานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539. สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา,”ศาลจราจร”,ในอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพนายประสิทธิ์             ศรินทุ , ( กรุงเทพมหานคร : วัชรินทร์การพิมพ์ ) , 2521 สุรสิทธิ์  แสงวิโรจนพัฒน์. “ผลของการกระทำในทางอาญา : ศึกษาเฉพาะกรณีผลที่เป็นการก่ออันตราย,”วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536. อดิศักดิ์  น้อยประเสริฐ , ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและอาจารย์คณะนิติศาสตร์ต่อการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร , วิทยานิพนธ์สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล , 2531 อัยยรัช  บุญส่งสุวรรณ์, “ปัญหาข้อจำกัดการรอการลงโทษและรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543 . อานนท์  วิบูลย์สวัสดิ์ .  การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในการปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 “ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สาขานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539 . อิทธิ มุสิกธพงษ์. “การดำเนินคดีความผิดเล็กน้อย,” . วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534. ___________________________ [1] น.บ. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  น.ม. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  เนติบัณฑิตไทย บทความนี้เป็นบทความวิจัยของโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร”  (พฤศจิกายน  2558 )  ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  โดยมีศาสตราจารย์           วีระพงษ์  บุญโญภาส เป็นหัวหน้าโครงการ และนางสาวสุพัตรา แผนวิชิต เป็นนักวิจัย [2] ข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อ 15 มกราคม 2558