ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญาพ.ศ.2546

ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญาพ.ศ.2546

4 ส.ค. 2017 | บทความ

ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล* ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญาพ.ศ.2546 Legal Problems Regarding the Implementation of Special  Measures in Witness Protection under the Witness Protection in Criminal Case Act, B.E. 2546 [1] บทคัดย่อ เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนว่าพยานบุคคลในคดีอาญา ถือเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เพราะการพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรรมนั้น ศาลยุติธรรมก็ย่อมที่จะต้องพิจารณาจากคำเบิกความหรือถ้อยคำของพยานเป็นสำคัญ หรือพิจารณาจากน้ำหนักความเชื่อถือที่พยานได้ให้การเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามพยานบุคคลในคดีอาญาจะเบิกความหรือให้ถ้อยคำใดๆไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์และเป็นไปตามความจริงได้นั้น พยานก็ย่อมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ และต้องสร้างความมั่นใจให้กับพยานจากการศึกษาพบว่าการบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ยังหาได้ให้ความคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาด้วยวิธีการมาตรการพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับประเทศไทยแต่อย่างใดไม่ คำสำคัญ: ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน Abstract It is obviously accepted that the witness in criminal case is considered as the person who plays very crucial role in the justice procedure because under the judgment and punishment of the offenders or the criminals, justice courts can consider from the testimony or statement of the witness or from the weight of reliability in the testimony given by the witness. However, verbal witness in criminal case can give the testimony or statement for the sake of him/her or in accordance with the truth. To do so, the witness must be protected by the related government agencies and such agencies must ensure the confidence for the witness. Form the study, it is found that the enforcement of special measures to protect witness in criminal case in Thailand under the Witness Protection in Criminal Case Act, B.E. 2546, has not effectively protected the witness in criminal case by the special measure . Keywords: Legal Problems Regarding the Implementation of  Special  Measures in Witness Protection ความนำ ในปัจจุบันแนวโน้มของการประกอบอาชญากรรมมีลักษณะซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะรูปแบบของการสมคบหรือร่วมมือกันประกอบเป็นองค์กรอาชญากรรมของผู้มีอิทธิพล รวมถึงบางกรณียังได้มีการสร้างพยานหลักฐานต่างๆอันเป็นเท็จ ทำให้รัฐซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมความสงบสุขของสังคมต้องพิจารณาหามาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมได้ และเป็นการป้องปรามกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ มาตรฐานสำคัญประการหนึ่งที่รัฐนำมาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมและผู้มีอิทธิพลคือการให้ความคุ้มครองพยานพยานบุคคลในคดีอาญา ซึ่งนานาประเทศล้วนยอมรับว่าพยานบุคคลในคดีอาญาถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างที่สุด ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะจะต้องเป็นผู้ให้การในฐานะพยานหรือต้องมีการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล แต่อุปสรรคประการสำคัญก็คือความไม่ปลอดภัยของพยาน พยานไม่กล้าที่จะมาเบิกความตามคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีพยาน ก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะเป็นตัวกำหนดข้อกล่าวหา” ซึ่งการดำเนินคดีหรือการพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ต้องพิจารณาพิพากษาจากข้อเท็จจริงตามที่พยานได้มีการเบิกความเพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักความเชื่อถือของพยานได้ ในบางกรณีผู้เสียหายอาจเป็นพยานและได้เบิกความเป็นการพิสูจน์ความผิดที่มีการกล่าวหา แต่ในความเป็นจริงแล้วพยานกลับไม่กล้าที่จะมาเบิกความเพราะความไม่ปลอดภัยของตัวพยานเอง ทั้งๆกรณีดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่การชี้ตัวจับกุมผู้กระทำความผิดและพิพากษาลงโทษ วัตถุประสงค์การวิจัย 1.เพื่อศึกษาถึงหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญาแนวคิดการให้ความคุ้มครองพยานในประเทศไทยบทบาทของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองพยาน 2.เพื่อศึกษาถึงความเป็นมา หลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เงื่อนไขและวิธีดำเนินการคุ้มครองพยานโดยใช้มาตรการพิเศษรวมทั้งระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องและศึกษาการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษตามกฎหมายต่างประเทศ 3.เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษของประเทศไทย แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง มาตรการพิเศษนั้น หลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานสืบเนื่องมาจากปัญหาองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีการพัฒนาในลักษณะข้ามชาติมักจะมีเครือข่ายในการกระทำผิดหลายๆ รัฐ มักมีการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย กำจัดพยาน หรือผู้ใกล้ชิด มีการกดดันพยานไม่ให้พยานไปให้การต่อเจ้าหน้าที่หรือศาล แม้สมาชิกผู้กระทำผิดจะถูกจับได้ก็ยังมีสมาชิก หรือผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง การสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาผิดต่อผู้กระทำผิด หรือ ผู้ร่วมขบวนการจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความใกล้ชิดกับการกระทำผิด โดยเฉพาะในขั้นตอนการให้การเป็นพยานในศาล จึงมีการกันผู้ร่วมกระทำผิดเป็นพยาน เพื่อสืบสาวไปให้ถึงผู้บงการหรือตัวการสำคัญ จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมดังกล่าว โดยการคัดเลือกพยานบุคคลเข้าสู่ความดูแลของรัฐ โดยพิจารณาจากพยานที่มีโอกาสได้รับความเสี่ยงภัยและพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่น เนื่องจากรัฐมีข้อกำหนดให้ด้านงบประมาณและบุคลากรมาตรการพิเศษ จึงถือเป็นมาตรการที่รัฐได้กำหนดให้เงื่อนไขในการคุ้มครองพยานได้มีศักยภาพมากกว่าเดิมและเหมาะสมกับบริบทเกี่ยวกับคดีในปัจจุบัน และถือเป็นมาตรการสูงสุดเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของพยาน และความร้ายแรงของคดีมากกว่าคดีปกติธรรมดา เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป เป็นต้นโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ การย้ายที่อยู่ หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม การจ่ายเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยานหรือบุคคลที่อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของพยานเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอาจขอขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกินสามเดือน แต่ไม่เกินสองปี การประสานงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย การดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสม การช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ การดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ นานาอารยะประเทศต่างเห็นตรงกันว่า การคุ้มครองพยานนั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นหัวใจของกระบวนการยุติธรรมอย่างที่สุด ดังนั้นในแต่ละประเทศล้วนมีมาตรการในการคุ้มครองพยานแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบทของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ แต่เพื่อให้การกำหนดมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานไปในทิศทางเดียวกัน  หรือมีมาตรฐานใกล้เคียงกันแล้ว สหประชาชาติจึงได้มีการวางหลักการเรื่องการคุ้มครองพยานในอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติต่อด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (The United Nations Convention against Transnational Organized Crime)(มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่เลขที่ 55/25 ภาคผนวก 1) (General Assembly Resolution 55/25,annex I) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.2000 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่นานาประเทศในการต่อต้านกับอาชญากรรมองค์กรข้ามชาติ โดยรัฐภาคีสมาชิกได้มีการลงนามร่วมกันในการประชุมที่ Palermo ประเทศอิตาลี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม ค.ศ.2000(สำหรับประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.2000)(พ.ศ.2543) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ในการนี้ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐภาคีสมาชิกอยู่แล้ว ได้นำหลักการภายใต้อนุสัญญาฉบับดังกล่าวนี้เข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันภายใต้กฎหมายแห่งอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) โดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อด้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 (The United Nations Convention against Transnational Organized Crime)ดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองพยานไว้ในข้อ 24 ความว่า รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องใช้มาตรการทั้งหลายที่เหมาะสมภายในวิถีทางของตน เพื่อที่จะให้ความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพแก่พยานจากการแก้แค้น หรือข่มขู่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งพยานผู้นั้นเป็นผู้ให้การที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ครอบคลุมภายใต้อนุสัญญานี้ และแก่ญาติและบุคคลอื่นที่ใกล้ชิดกับพยานผู้นั้นตามความเหมาะสม มาตรการดังกล่าว ต้องไม่ทำให้เสื่อมสิทธิของจำเลย  เช่น ภายในขอบเขตที่จำเป็นและกระทำได้ การย้ายบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ที่อื่นและเท่าที่เห็นจำเป็น การไม่เปิดเผยหรือจำกัดการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณและที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว หรือจัดให้มีกฎเกณฑ์ทางพยานหลักฐานที่อนุญาต ให้คำให้การของพยานสามารถกระทำได้ในลักษณะที่ทำให้แน่ใจว่าพยานได้รับความปลอดภัย หรือรัฐต้องพิจารณาจัดทำความตกลงหรือข้อตกลงกับรัฐอื่น เพื่อย้ายบุคคลที่อ้างถึงในวรรคหนึ่งของข้อนี้ไปอยู่ที่อื่น เพื่อเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการคุ้มครองพยานในกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม(Good Practices for the Protection of Witnesses in Criminal Proceedings Involving Organized Crime 2008)จะได้มีการเป็นแบบอย่างในการคุ้มครองพยานให้กับรัฐภาคสมาชิก แต่อย่างไรก็ตามมาตรการพิเศษของแต่ละประเทศ ต่างมีการกำหนดเงื่อนไขรูปแบบและวิธีการบังคับใช้ไว้หลากหลายต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือการที่จะนำมาตรการพิเศษดังกล่าวไปใช้ในการคุ้มครองพยานนั้นทุกประเทศต่างต้องการให้พยาน หรือบุคคลที่พยานร้องขอให้มีการคุ้มครองนั้นได้รับความปลอดภัยสูงสุด และทำให้พยานเกิดความเชื่อมั่นกับการเบิกความดังกล่าว ผลของการกระทำดังกล่าว ย่อมจะทำให้การพิจารณาคดีอาญาเป็นไปด้วยความยุติธรรม ในการนี้สามารถจัดกลุ่มมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานได้ 5 กลุ่มดังนี้
  1. มาตรการด้านกายภาพ
มาตรการด้านกายภาพ เป็นมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัยแก่พยานและครอบครัวของพยาน อาทิเช่น การจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยให้พยาน ซึ่งอาจกระทำโดยการย้ายที่อยู่ของพยานและบุคคลใกล้ชิด การจัดหาอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของการใช้มาตรการด้านกายภาพดังนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา การคุ้มครองพยานได้ถูกบัญญัติในประมวลกฎหมาย(United States Code) บรรพ 18 (Title 18) อาชญากรรมและกระบวนการทางอาญา (Crimes and Criminal Procedure) ส่วน 2 (Part II) หมวด 224 (Chapter 224) มาตรา 3521 (Section 3521) (a)(1), (b)(1) ได้กำหนดผู้ที่จะได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ พยาน ผู้ที่จะเป็นพยานหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นพยาน ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพยานในกรณีที่บุคคลดังกล่าวอาจจะได้รับอันตรายจากการที่พยานนั้นๆ ในการให้ความคุ้มครองพยาน จะกระทำโดยการย้ายถิ่นที่อยู่และการคุ้มครองโดยประการอื่นที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเห็นสมควร เช่นการทำร้ายร่างกาย การให้ประกันเรื่องสุขภาพ เรื่องความปลอดภัย เรื่องสวัสดิการของบุคลเหล่านั้น รวมทั้งจิตใจและการปรับตัวเข้าสู่สังคม ให้กับพยาน ครอบครัวและบุคคลที่ใกล้ชิดกับพยานดังกล่าว  และทั้งนี้ U.S. Marshals ถือเป็นหน่วยงานที่ถูกระบุไว้ในกฎหมาย United States Code Title28, part II, Chapter 37 Section 561 เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจและสั่งการ มีหน้าที่โดยตรงในการนำมาตรการทางกายภาพไปปรับใช้กับพยาน และยังมีอำนาจในการออกข้อบังคับ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ (1)  จัดให้มีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลของพยานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (2)  จัดที่พักอาศัยให้กับพยาน (3)  จัดให้มีการขนของ เครื่องใช้เพื่อให้เข้าไปอยู่ในสถานที่พักแห่งใหม่ (4)  จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่เพียงพอ (5)  ช่วยให้พยานมีงานทำ (6)  ให้ความช่วยเหลืออย่างใดๆ เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสังคมใหม่ (7)  ปกปิดหรือปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อหรือสถานที่ของพยานที่ได้รับการคุ้มครอง หรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวกับพยานหรือโครงการคุ้มครองพยาน ยกเว้นการมีคำสั่งศาลโดยการร้องขอของมลรัฐหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่น (8)  รักษาความลับของชื่อตัว ชื่อสกุล รวมถึงสถานที่อยู่ของพยานในกรณีที่ต้องมีการบันทึกในทะเบียนประวัติอาชญากรรมภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือมลรัฐ           ประเทศออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบในการคุ้มครองตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง และยังมีอำนาจในการที่จะโยกย้ายผู้ให้เบาะแสไปยังสถานที่อื่นๆ พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนรูปพรรณสัณฐาน โดยมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อคุ้มครองพยานที่ตกลงจะให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์กรอาชญากรรม ต่อมาโครงการดังกล่าวได้รับการพัฒนาจนเป็นการบังคับใช้กฎหมายในระดับประเทศและให้ความคุ้มครองในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้การปราบปรามอาชญากรรมประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน ค.ศ. 1994 (Witness Protection Act 1994) ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การคุ้มครองพยานได้มีการบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (The German Code of Criminal Procedure) แต่การคุ้มครองพยานดังกล่าวยังมีข้อจำกัดไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับพยานหรือผู้เสียหายได้ เพราะเป็นการคุ้มครองเฉพาะในการพิจารณาคดีเท่านั้น ดังนั้นจึงได้มีการนำกฎหมายตำรวจ (Police Law) มาเสริมมาตรการที่มีอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (The German Code of Criminal Procedure) ก่อนการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งมาตรา 68 อนุมาตรา 1 มีการกำหนดให้บุคคลใดไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือพยานมีสิทธิที่จะให้การต่อศาลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาโดยสามารถให้สถานที่ทำงานเป็นถิ่นที่อยู่แทนได้ หรืออาจระบุถึงที่อยู่อื่นซึ่งอาจส่งหมายได้ก็ได้ สอดคล้องกับมาตรา 68 อนุมาตรา 2 ที่ได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจให้พยานไม่ต้องให้การเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและภูมิลำเนาก็ได้ รวมถึงพยานสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลใดๆที่ทำให้พยานได้รับอันตรายได้ ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี การคุ้มครองพยานได้ถูกบัญญัติไว้ใน Law no. 45 ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมใน Law no. 8 ข้อที่ 17 ทวิ ซึ่งได้ให้อำนาจการคุ้มครองเป็นหน้าที่กระทรวง มหาดไทย ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกกฎระเบียบที่ 2004/04/23 ฉบับที่ 161 เกี่ยวกับมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานและทำงานร่วมกันของความยุติธรรม (Protective measures for witnesses and collaborator so fjustice: Regulation 23.04.2004 Ministry of Interior Decree No. 161) ด้วยการย้ายที่อยู่ของพยานไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งให้มีชื่อตัว ชื่อสกุลใหม่ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและสามารถประกันความมั่นคงและความปลอดภัยของพยานได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นการคุ้มครองพยานที่จะให้การเป็นปฏิปักษ์ต่ออาชญากรเหล่านั้น จะต้องรวมถึงบุคคลที่สามซึ่งมีความเกี่ยวพันกับพยานด้วย มิฉะนั้นบุคคลที่สามซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจะต้องได้รับผลจากการกระทำที่ไม่ชอบและกลายเป็นเหยื่อโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ            ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร การคุ้มครองพยานได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคดีเยาวชนและพยานหลักฐานในคดีอาญา ค.ศ. 1999 (The Youth Justice and Criminal Evidence Act 1999 (YJCEA))ในกรณีที่คดีมีความร้ายแรงมาก และมีความเสี่ยงที่พยานจะเป็นอันตรายอาจต้องมีการย้ายพยานบุคคลไปอยู่อีกที่หนึ่ง กล่าวคือ อาจให้พยานไปอยู่นอกภูมิลำเนาในเมืองอื่นที่อยู่ภายในสหราชอาณาจักรก็ได้
  1. มาตรการด้านความปลอดภัย
มาตรการด้านความปลอดภัย เป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยในการคุ้มครองตัวพยานและบุคคลในครอบครัวจากการถูกประทุษร้าย ซึ่งได้แก่ การจัดชุดเจ้าหน้าที่ไปคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน มาตรการเกี่ยวกับการปกปิดที่อยู่ มาตรการรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการคุ้มครองพยาน เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของการใช้มาตรการเกี่ยวกับสถานะของพยานดังนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมีการกำหนดให้ความคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลข่าวสารในคดีความผิดสำคัญโดยเฉพาะการก่อการร้ายหรือการจารกรรมข้อมูล และยังกำหนดโปรแกรมของการคุ้มครองที่เรียกว่า (Witness Security Program/WITSEC) อยู่ใน United States Code Title 18, part II, Chapter 204 Section 3073 และ 3076  เพราะกฎหมายดังกล่าวเห็นการปกปิดที่อยู่หรือข้อมูลต่างๆ ของพยานเป็นเรื่องสำคัญ โดยกำหนดให้ United States  Marshals จะต้องให้ความคุ้มครองพยานตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเมื่อพยานไปให้การหรือเบิกความต่อศาล ประเทศออสเตรเลีย อำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองพยานของประเทศออสเตรเลีย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจและรับผิดชอบในโครงการดงกล่าว รวมถึงเป็นผู้ลงทะเบียนพยานที่เข้าสู่โครงการโดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เฉพาะผู้บัญชาการตำรวจ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งและบุคคลใดๆ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจเท่านั้น ที่จะมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลใดๆทางทะเบียน และรวมถึงเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับทะเบียนดังกล่าวรวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและการประเมินความน่าไว้วางใจของระบบการเก็บทะเบียนในชั้น “ลับ” หรือ “ลับที่สุด” นอกจากนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานฉบับนี้ยังได้มีการกำหนดโทษ กล่าวคือสำหรับกรณีบุคคลที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อแสดงตัวหรือแหล่งที่อยู่ของบุคคลที่เป็นหรือได้เป็นผู้เข้าร่วมแห่งเครือจักรภพ หรือที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ความปลอดภัยของบุคคลดังกล่าวบทลงโทษระวางโทษจำคุก 10 ปี ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (The German Code of Criminal Procedure) มาตรา 68 อนุมาตรา 3 ได้กำหนดว่าทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐาน ของพยานนั้น พยานอาจปกปิดได้หากพยานเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต อิสรเสรีภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนตัวและเอกสารต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับรูปพรรณของพยานนั้น หรือเอกสารที่เกี่ยวโยงถึงตัวบุคคลนั้น ที่พยานเห็นว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและเสรีภาพของพยานและบุคคลที่ใกล้ชิดพยานได้พยานก็สามารถที่จะนำส่งให้เก็บรักษาไว้ ที่สำนักงานอัยการได้ แม้กฎหมายจะกำหนดให้นำส่งที่ศาลก็ตาม และยังกำหนดไว้ในมาตรา 96 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องนำส่งแฟ้มข้อมูลหรือเอกสารต่างๆ หากมีการร้องขอหรือมีการขอหมายเรียก เพื่อเป็นมาตราในการคุ้มครองพยานเพื่อจะทำให้เจ้าพนักงานของรัฐไม่ต้องให้ข้อมูลหรือแฟ้มดังกล่าวตามที่ร้องขอโดยชอบด้วยกฎหมายได้ มาตรา 110 b กำหนดให้รูปพรรณสัณฐานที่แท้จริง (Identity) ของเจ้าหน้าที่สืบสวนนอกเครื่องแบบซึ่งทำงานสามารถใช้ชื่อที่สมมติและต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับแม้ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ตาม ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี ภายใต้ Law no. 45 ค.ศ. 2001 ที่ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการคุ้มครองพยานจึงได้ออกกฎระเบียบที่ 2004/04/23 ฉบับที่ 161 เกี่ยวกับมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานและทำงานร่วมกันของความยุติธรรม มีการกำหนดคุณสมบัติไว้ในมาตรา7 (4) ก)  การเฝ้าระวัง และการคุ้มครองนั้นจะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยตำรวจ ข)  ความปลอดภัยทางเทคนิค หมายถึง ให้ความปลอดภัยแก่บ้านหรือ ทรัพย์สินของพยานหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียโดยใช้กล้องวีดีโอระยะไกลหรือ CCTV เป็นต้น ค)  มาตรการที่จำเป็นสำหรับการย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ที่อื่น ง)  สามารถย้ายไปในเรือนจำ จ)  จัดสรรงบประมาณให้แก่พยาน ฉ)  มาตรการใดๆ อื่นๆ ที่จำเป็นที่สอดคล้องกับ แนวทางปฏิบัติทั่วไปที่กำหนดโดยอธิบดีกรมตำรวจ ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร มาตรการด้านความปลอดภัยถูกนำมาใช้ด้วยการทำให้พยานเป็นผู้ไม่มีชื่อ เป็นมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามมาตรา 74 ถึง 85 ของ The Coroners and Justice Act 2009 ซึ่งเป็นมาตรการปกปิดชื่อของพยานตั้งแต่ชั้นสอบสวนเมื่อได้รับการร้องขอจากพยาน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการข่มขู่พยานอันเนื่องจากมีการเปิดเผยชื่อบุคคลและบุคคลดังกล่าวมีส่วนได้เสียกับคู่ความในคดี นอกจากนี้ในกรณีที่คดีมีความร้ายแรงมาก และมีความเสี่ยงที่พยานจะเป็นอันตรายอาจต้องมีการย้ายพยานบุคคลไปอยู่อีกที่หนึ่ง
  1. มาตรการเกี่ยวกับสถานะของพยาน
มาตรการเกี่ยวกับสถานะของพยาน เป็นมาตรการพิเศษที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้พยานได้รับการปกปิดหรืออำพรางสถานะตัวตนที่แท้จริง เป็นการอำพรางเพื่อมิให้ผู้อื่นล่วงรู้ตัวตนที่แท้จริงของพยาน  มาตรการดังกล่าว ได้แก่ การเปลี่ยนชื่อสกุล หลักฐานต่างๆ ทางทะเบียน การเปลี่ยนอาชีพการงานของพยานระหว่างและหลังที่มีการเบิกความไปแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของการใช้มาตรการด้านเกี่ยวกับสถานะของพยานดังนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา United States Marshals จะต้องดำเนินการย้ายที่อยู่ของพยานให้พ้นจากเขตอันตราย (Danger Area) ไปยังเขตที่ปลอดภัย (Secure Area) นอกจากนี้ยังกำหนดให้ United States Marshals เป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ตามที่ตั้งใหม่ให้กับพยาน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Identity) ทั้งหมดแทนของเดิมให้กับพยาน แต่การเข้าสู่โครงการเริ่มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของมลรัฐหรือสหรัฐเป็นผู้ส่งคำร้องขอความคุ้มครองต่อ Office of Enforcement Operation (OEO) ซึ่งอยู่ในกระทรวงยุติธรรม โดยมี Attorney General เป็นผู้บังคับบัญชา โดยที่การยื่นคำขอของพยานต้องระบุถึงคำให้การเป็นพยาน ภัยที่พยานได้รับการข่มขู่และความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่ชุมชนใหม่ที่พยานจะเข้าไปอยู่ เมื่อได้รับคำขอแล้ว OEO จะประสานเพื่อให้พยานได้รับการสัมภาษณ์จาก US  Marshals Service เพื่อพยานจะได้ทราบว่าชีวิตของพยานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหากเข้าสู่การคุ้มครองพยาน และ US Marshals จะประสานงานเพื่อให้ Attorney General ได้สัมภาษณ์พยานโดยตรง และเสนอต่อ Attorney General ว่าควรให้พยานเข้าสู่โครงการหรือไม่และส่งคำแนะนำดังกล่าวไปยัง OEO ประเทศออสเตรเลีย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจในการคุ้มครองพยานและยังมีอำนาจ จัดทำเอกสารสำคัญขึ้นใหม่ เช่น บัตรประจำตัว , เปลี่ยนชื่อและจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง การย้ายถิ่นฐาน การจัดหาที่อยู่ใหม่ จัดการขนส่งสิ่งของที่เป็นของพยาน,ให้ค่าครองชีพที่จำเป็น รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้ค่าย้ายถิ่นฐาน ช่วยเหลือในการหางานและการศึกษาต่อ และกระทำการอื่นใดที่เห็นว่ามีความจำเป็นต่อความปลอดภัยของพยาน กรณีที่พยานได้มีการเปลี่ยนชื่อหรือหลักฐานทางทะเบียน กฎหมายให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่จะอนุญาตให้พยานปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐานเดิมและอ้างเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐานใหม่และยังอนุญาตให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการฯ หรือเจ้าหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่จำต้องนำเสนอเอกสารที่อยู่ในความครอบครองเกี่ยวกับข้อมูลของพยานในโครงการต่อศาล ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พระราชบัญญัติ Witness Protection Harmonisation Act (2007) ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับสถานะของพยานไว้ในมาตรา 1 ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อ สกุลและที่อยู่ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก่อน และมาตรา 5 กำหนดเกี่ยวกับ รูปพรรณสัณฐานชั่วคราวไว้ คือ อนุ 1 ในกรณีที่หน่วยงานที่คุ้มครองพยานร้องขอเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองหรือพยาน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะออกเอกสารสิทธิหรือเอกสารอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดหรือคงไว้ซึ่งรูปพรรณสัณฐานที่มีการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อมูลที่หน่วยงานที่คุ้มครองพยานได้ให้ไว้ อนุ 2 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานอาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐไม่ให้ข้อมูลหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล และสามารถที่จะร้องขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานร้องขอ อนุ 3 ถ้าจะต้องทำธุรกรรมทางกฎหมาย บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองหรือพยานได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรูปพรรณสัณฐานได้ชั่วคราว อนุ 4 ภายใต้อนุ 1-3 ให้นำมาใช้โดยอนุโลม กับตำรวจหรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการคุ้มครองพยาน ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี ภายใต้ Law no. 45 ค.ศ. 2001 ยังได้กำหนดให้อัยการ (the public prosecutor) เป็นผู้ร้องขอให้มีมาตรการคุ้มครอง โดยให้คณะกรรมการกลาง (the Central Commission)เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาและให้สำนักงานคุ้มครองพยานกลาง (the Central Protection Service) เป็นผู้นำมาตรการตามกฎหมายไปบังคับใช้มาตรการในการคุ้มครองพยานครอบคลุมถึงความปลอดภัย การย้ายถิ่นที่อยู่ การเปลี่ยนรูปพรรณสัณฐานชั่วคราวหรือถาวรวิธีการคุ้มครองพยานด้วยการให้มีชื่อตัว ชื่อสกุลใหม่ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับพยานได้เป็นอย่างดี มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ กำหนดให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปพรรณสัณฐานนั้นต้องกระทำเป็นความลับและรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงรูปพรรณสัณฐานใหม่ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือกับกระทรวงมหาดไทย ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร พระราชบัญญัติคดีเยาวชนและพยานหลักฐานในคดีอาญา ค.ศ. 1999 (The Youth Justice and Criminal Evidence Act 1999 (YJCEA)) พยานที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือพยานในกระบวนคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือ ในกรณีที่ศาลพอใจว่าคุณสมบัติของพยานหลักฐานที่พยานได้ให้ไว้ไม่ได้ถูกทำลายลงโดยเหตุแห่งความกลัวหรือความกังวลใจอย่างรุ่นแรงในส่วนของพยาน อันเกี่ยวเนื่องกับการให้การในกระบวนการพิจารณาคดี ศาลจะต้องนำเรื่องดังต่อไปนี้มาพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปคือ (ก)  ลักษณะของพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในการทำความผิด (ข)  อายุของพยาน (ค)  ภูมิหลังด้านสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ของพยาน ประสบการณ์การทำงานพยานและความเชื่อทางศาสนาและความเห็นทางการเมืองของพยาน (ง)  พฤติกรรมใดๆที่มีต่อพยานในความเห็นของจำเลย สมาชิกในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดของจำเลย หรือบุคคลอื่นใดที่มีแนวโน้มจะเป็นจำเลยหรือเป็นพยานในคดี
  1. มาตรการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี
มาตรการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี  เป็นการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษที่ใช้ในชั้นพิจารณา เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปโดยสะดวกและพยานมีความปลอดภัยจากการมาให้การหรือเป็นพยานในชั้นศาล  อาทิเช่น  มาตรการเกี่ยวกับการสืบพยานต่างๆ การซักถามพยานดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของการใช้มาตรการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี ดังนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างการพิจารณาคดี United States Marshals จะดำเนินการในส่วนการคุ้มครองความปลอดภัยด้านการคมนาคมระหว่างเรือนจำกับการมาปรากฏตัวในศาล เพื่ออำนวยการความปลอดภัยของพยาน และกรณีที่มีการซักค้านพยานในศาลโดยทนายจำเลย เมื่อเสร็จภารกิจในการเป็นพยานแล้ว United States Marshals จะรีบพาตัวพยานออกไป เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะที่ต้องทำหน้าที่ไม่จำเป็นสำหรับพยานเอง นอกจากนี้กฎหมายคุ้มครองพยานยังกำหนดให้พยาน เมื่อพยานร้องขอ เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้แก่นายจ้างของพยานทราบถึงความจำเป็นในการต้องขาดงานในช่วงที่พยานต้องมาให้ปากคำทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นศาล รวมถึง เจ้าหนี้ของพยาน หากการมาให้ปากคำหรือรูปคดีส่งผลให้พยานต้องชำระหนี้ล่าช้า หรือการจัดให้มีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่พยาน เช่น ยานพาหนะในการรับส่งพยาน ที่จอดรถ การดูแลบุตรให้แก่พยานในเวลาที่พยานต้องมาให้ปากคำ ล่าม หรือจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยให้แก่พยานในขณะเดินทางมาให้ปากคำ หากจำเป็น อัยการควรแจ้งให้ศาลทราบถึงระดับความเสี่ยงและที่มาของภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่พยานให้ศาลทราบ หรือในขณะที่รอให้ปากคำ ควรจัดที่พักของพยานแยกต่างหากจากฝ่ายโจทก์และจำเลย หรือพยานควรจะได้รับการรายงานสถานะหรือความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างการสืบพยานที่ศาล กรณีจำเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนต้องทราบที่อยู่และพฤติการณ์ของพยาน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลนั้น แต่หากขณะนั้นมีผู้อื่นนอกจากผู้พิพากษาอยู่ด้วยเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่จำต้องเปิดเผยข้อมูล ผู้พิพากษาที่ได้รับข้อมูลจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของพยาน ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล หากจะต้องมีการเปิดเผยรูปพรรณสัณฐานของพยานที่ได้รับการคุ้มครองศาลจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรูปพรรณสัณฐานเป็นการส่วนตัวและจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการห้ามเผยแพร่พยานหลักฐานที่มีการนำเสนอในศาลเพื่อเป็นหลักประกันว่ารูปพรรณสัณฐานของพยานจะไม่ถูกเปิดเผย ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี The German Code of Criminal Procedure  มาตรา 223 มุ่งเน้นถึงการคุ้มครองพยานที่ป่วยหรือมีอุปสรรค ส่งผลทำให้พยานไม่สามารถมาเบิกความในฐานะพยานในการพิจารณาคดีนัดสืบพยานหรือนัดที่ต้องปรากฏตัวในการสืบพยาน โดยศาลอาจมีคำสั่งเดินเผชิญสืบไปยังสถานที่ที่พยานอยู่เพื่อทำการสืบพยานก็ได้แต่ทั้งนี้สำหรับการเดินเผชิญสืบนั้น ทนายความมีสิทธิที่จะเดินทางไปด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดให้ศาลสามารถมีคำสั่งแต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อไปทำการบันทึกวีดีโอเพื่อนำมาเปิดในการสืบพยานนัดสืบพยานในคราวที่จะมีการสืบพยานจริงได้ต้องเป็นกรณีที่พยานนั้นอยู่ไกลไม่สามารถมาเบิกความที่ศาลได้ มาตรา 251 นอกจากนี้มาตรา 58 a มาตรา 168e มาตรา 247 a และมาตรา 255 a ยังได้วางหลักว่าพยานอาจถูกซักถามต่างหากโดยผู้พิพากษาเสียตั้งแต่ในชั้นสอบสวน โดยเป็นกระบวนการที่แยกออกจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาและในชั้นพิจารณาคดีนั้น พยานก็ไม่ต้องปรากฏตัวในห้องพิจารณาเพื่อการซักถามทุกครั้งไป ในทั้งสองกรณีดังกล่าวคำให้การของพยานจะถูกส่งผ่านทางวีดีโอไปพร้อมกับมีการบันทึกภาพและเสียงด้วยหากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย นอกจากนั้น ยังอาจให้มีการบันทึกคำถามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการอีกด้วย ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี รัฐบัญญัติฉบับที่ 11 ค.ศ. 1998 นี้ อนุญาตให้ใช้ระบบการประชุมทางวีดีโอมาใช้เพื่อเป็นการคุ้มครองพยานได้ด้วย ใน 3 กรณี คือ กรณีแรกเป็นการใช้การประชุมทางวีดีโอในการพิจารณาคดีของศาลนี้บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประเทศอิตาลีมาตรา 146 ทวิ สามารถกระทำได้สำหรับความผิดร้ายแรง และตามมาตรา 51/3 ทวิ เช่น การมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการมาเฟีย การให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนกิจกรรมของมาเฟีย การลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่การค้ายาเสพติด เป็นต้น  กรณีที่สองเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าศาลในห้องพิจารณา อาจรวมถึงการสืบพยานต่อหน้าศาลแห่งเสรีภาพการสืบพยานชั้นอุทธรณ์การไต่สวนมูลฟ้อง กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและถูกตรวจสอบ และกรณีที่สามเป็นการไต่สวนพยานของรัฐซึ่งตกอยู่ในฐานะได้รับความคุ้มครอง สามารถกระทำโดยการประชุมทางจอภาพได้ ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร มาตรการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีถูกนำมาใช้ด้วยการนำมาตรการสืบพยานเป็นการส่วนตัวด้วยกล้องวิดีโอในชั้นศาล(Applications to hold a Crown Court hearing in camera) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (The Criminal Procedure Rules 2010 (CPR)) 16.10 โดยเป็นการพิจารณาแบบลับ โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา และศาลอาจสั่งให้สืบพยานบุคคลเป็นการส่วนตัวในห้องที่จัดไว้เฉพาะ
  1. มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ
มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ เป็นบทบาทของรัฐในการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อตัวพยาน โดยใช้กลไกและงบประมาณของรัฐ  อาทิเช่น การช่วยทางคดี การเรียกร้องสิทธิต่างๆ การช่วยเหลือทางการเงิน จ่ายค่าเลี้ยงชีพ การรักษาพยาบาล ให้การศึกษา การอบรม ช่วยงานอาชีพ รวมถึงครอบครัวของพยานด้วย เป็นต้นซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะของการใช้มาตรการด้านช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐดังนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา United States Code Title 18, Part II, Chapter 224 Section 3521 (a) (1) บัญญัติว่าต้องเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมหรือความผิดร้ายแรง เพราะการคุ้มครองพยานเป็นสำคัญจำต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และอาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนอย่างมาก และถือเป็นกิจกรรมที่ขยายวงกว้าง ทำให้จำนวนเงินต้องไหลไปสู่ขบวนการดังกล่าวเป็นจำนวนมากผ่านทางสินค้าที่ผิดกฎหมาย การใช้อำนาจโดยผิดกฎหมาย การฉ้อฉล และการคอร์รัปชั่น การนำเข้าและจำหน่ายยาเสพติด รวมทั้งการทำลายสังคมในรูปแบบอื่น เงินและอำนาจ ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างเป็นระบบ อาชญากรรมองค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง เป็นอุปสรรคในทางพาณิชย์ของประเทศและต่างประเทศอย่างรุนแรง รัฐจึงจำต้องให้ความคุ้มครองกับการคุ้มครองพยาน เพื่อให้พยานได้รับความปลอดภัยเพื่อล้มล้างอาชญากรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหน้าที่โดยตรงคือ United States Marshals เพื่อให้ United States Marshals มีอำนาจในการคุ้มครองพยานได้อย่างมีศักยภาพ โดยเบื้องต้นได้กำหนดให้การรักษา พยาบาล การฝึกงาน สถานที่ศึกษาของบุตรและจัดหางานให้ใหม่ตามความรู้ความถนัดของตน และยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลจ่ายค่าครองชีพเบื้องต้น จนกว่าพยานจะช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ ประเทศออสเตรเลีย พระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน ค.ศ. 1994 (Witness Protection Act 1994) ถือเป็นหลักกฎหมายคุ้มครองพยานที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองพยานอย่างมี  และสามารถทำให้พยานกล้าที่จะมาเป็นพยานเพื่อเป็นการล้มล้างอาชญากรรมองค์กรต่างๆ รัฐจึงกำหนดให้มีการจัดตั้งโครงการคุ้มครองพยานแห่งชาติ หรือ National Witness Protection Program (NWPP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองพยานของประเทศออสเตรเลีย กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออสเตรเลีย (The Commissioner of the Australian Federal Police) เป็นผู้รักษาการตามโครงการคุ้มครองพยาน มีอำนาจตัดสินว่าบุคคลใดสมควรได้รับการคุ้มครอง และให้มีอำนาจในการที่จะอนุญาตให้พยานเปลี่ยนแปลงหลักฐานข้อมูลส่วนตัวใหม่ จัดหาสถานที่อยู่ให้พยานใหม่ จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้พยาน จัดการขนย้ายทรัพย์สินของพยาน ดำเนินการช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่พยานตามสมควร ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่จะพิจารณาว่าเงื่อนไขใดหรือรูปแบบอย่างไรถึงจะสามารถนำมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานไปใช้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบลักษณะของอาชญากรรม โดยต้องถึงระดับที่เป็นอาชญากรรมรุนแรง (Serious Crime) ได้แก่ อาชญากรรมองค์กร (Organized Crime) แต่มาตรการพิเศษที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่เพียงพอที่จะสามารถคุ้มครองพยานได้ รัฐจึงได้หาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อต้องการที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่พยานสูงสุด โดยการนำหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในกฎหมาย (Police Law) มาสนับสนุนการคุ้มครองพยานในช่วงก่อนที่จะดำเนินคดี จึงทำให้การคุ้มครองพยานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งก่อนและหลังการพิจารณาคดี แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความสอดรับและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ประเทศเยอรมันยังได้กำหนดให้มีพระราชบัญญัติที่ทำให้การคุ้มครองพยานเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือให้การคุ้มครองพยานสอดคล้องกันที่เรียกว่า (The Act to Harmonize the Protection of Winess at Risk) และทั้งนี้ บทบัญญัติในกฎหมาย (Police Law) ได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองพยานของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
  1. ดูแลสภาพจิตใจของพยานและให้คำแนะนำในทางด้านพฤติกรรม
  2. จัดให้มีพนักงานตำรวจคุ้มครองความปลอดภัยของพยานในระยะเวลาที่ยาวนาน โดยจัดตำรวจติดตามทั้งแบบเปิดเผยและแบบเป็นการลับ
  3. จัดหาชื่อ ที่อยู่ เอกสารเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐานใหม่ อาชีพใหม่ โดยจะอยู่ท้องที่หรือภูมิลำเนาอื่นภายในประเทศ หรือนอกประเทศก็ได้
  4. ให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีอาชีพใหม่และสามารถเลี้ยงตนเองได้
          ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี ประเทศอิตาลีได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยออกเป็น Decree Law No.8 of 15 January 1991 กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา และยังได้มีข้อกำหนดในการคุ้มครองพยาน โดยได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยโดยปรึกษาหารือกับกระทรวงยุติธรรม สามารถออกระเบียบในการคุ้มครองพยานได้อยู่ในมาตรา 17 ทวิ และยังกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยใช้มาตรฐานการบังคับโดยตรงจากหน่วยงานของรัฐ มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการนี้ยังได้มีการกำหนดโครงการคุ้มครองพยานเป็นกรณีพิเศษขึ้นไว้ โดยมีรูปแบบในการช่วยเหลือไว้ ได้แก่ การเฝ้าระวัง และการคุ้มครองนั้นจะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยตำรวจ ให้ความปลอดภัยแก่บ้านหรือ ทรัพย์สินของพยานโดยใช้กล้องวีดีโอระยะไกลหรือ CCTV เป็นต้น การย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ที่อื่น หรือสามารถย้ายไปในเรือนจำ การจัดสรรงบประมาณให้แก่พยาน และมาตรการใดๆ อื่นๆ ที่จำเป็นที่สอดคล้องกับ แนวทางปฏิบัติทั่วไปที่กำหนดโดยอธิบดีกรมตำรวจ ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร หลักพื้นฐานการคุ้มครองพยาน ได้มีการวางแนวทางในมาตรา 6 (1) ของอนุสัญญายุโรปด้านสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และเปิดเผยภายในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยศาล ดังนั้นพยานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐได้ให้ความสำคัญ เพื่อให้พยานได้รับความปลอดภัย การที่พยานไม่กล้ามาให้ปากคำในกรณีคดีอุกฉกรรจ์ คดีองค์กรอาชญากรรม หรือคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนซึ่งพยานมีมีความกลัวเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัยของตนและครอบครัวกรณีต้องเดินทางมาเป็นพยานและกรณีการเป็นพยานบุคคลถือเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะต้องมีการยกมาปรับพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิด มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคดีเยาวชนและพยานหลักฐานในคดีอาญา ค.ศ. 1999 (The Youth Justice and Criminal Evidence Act 1999 (YJCEA)) แต่พระราชบัญญัติคดีเยาวชนและพยาน หลักฐานในคดีอาญา ค.ศ. 1999 (The Youth Justice and Criminal Evidence Act 1999 (YJCEA))  ยังได้มีการกำหนดวิธีการใช้มาตรการคุ้มครองพยานกับพยานที่เป็นผู้ใหญ่และบุคคลที่มีอายุถึง 18 ปีบริบูรณ์ไว้ในมาตรา 46 และกฎหมายยังกำหนดให้ใช้มาตรการไม่เปิดเผยชื่อพยานในระหว่างการสอบสวนนี้ใช้ได้เฉพาะในสถานการณ์ที่จำกัด เพื่อต้องการให้เกิดความปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองพยานอย่างที่สุด กรอบแนวคิดการวิจัย การศึกษาในเรื่องนี้มุ่งศึกษาถึงหลักการข้อกำหนดและการบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เป็นหลักภายใต้แนวทางของหลักการสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และศึกษาแนวทางการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเยอรมันหรือสาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลีและประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร สมมติฐานของการวิจัย พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 นั้นมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้เกิดความปลอดภัยแก่พยาน ตลอดจนบุคคลในครอบครัวของพยานทั้งก่อนดำเนินคดีและหลังดำเนินคดีเสร็จสิ้น โดยการใช้มาตรการคุ้มครองพยานที่เหมาะสมกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีปัจจุบันพบว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองพยาน โดยการใช้มาตรการพิเศษอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ในส่วนของการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกลุของพยาน และหลักฐานทางทะเบียนต่างๆนั้นยังขัดหรือแย้งกับกฎหมายฉบับอื่น และยังไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อหรือกำหนดเลขที่บัตรประชาชนใหม่ให้กับพยาน การขอความร่วมมือหรือการประสานงานกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าในการจัดหาอาชีพหรือจัดให้มีการศึกษาอบรม ขาดการประชาสัมพันธ์ หรือค่าตอบแทนที่ต่ำหาทำให้เกิดแรงจูงใจแก่พยานแต่ประการใด รวมถึง ขั้นตอนหรือกระบวนการอนุมัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่เพียงผู้เดียวในการกำหนดใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการพิเศษดังกล่าวเป็นมาตรการขั้นสูงสุดในการคุ้มครองให้พยานในคดีที่มีความร้ายแรงหรือในคดีสำคัญ ดังนั้นจึงควรศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาการบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานของประเทศไทยโดยศึกษามาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเยอรมันหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศอิตาลีหรือสาธารณรัฐอิตาลี และประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร เพื่อนำหลักการในกฎหมายของประเทศเหล่านั้นมาเป็นแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานของไทยก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคคลที่เป็นพยานและต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป วิธีดำเนินการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยในเชิงคุณภาพด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research)           การเก็บรวบรวมข้อมูล ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ได้ดำเนินการผ่านการเก็บรวมรวมข้อมูล ซึ่งนำมาวิเคราะห์และอภิปรายรวมถึงได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นหัวข้อของการวิจัย โดยศึกษาจากข้อมูลหนังสือ บทความวิชาการ คำพิพากษาของศาลไทย และต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเยอรมัน ประเทศอิตาลี และประเทศอังกฤษ ประกอบกับการวิจัยภาคสนาม ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในกระบวนยุติธรรมทางอาญา และนักวิชาการ เช่น อดีตประธานศาลฎีกา หรืออดีตอัยการสูงสุด เป็นต้น ผลการวิจัย
  1.   ทำให้ทราบถึงหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญาแนวคิดการให้ความคุ้มครองพยานในประเทศไทยบทบาทของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองพยาน
  2. ทำให้ทราบถึงความเป็นมา หลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เงื่อนไขและวิธีดำเนินการคุ้มครองพยานโดยใช้มาตรการพิเศษรวมทั้งระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องและศึกษาการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษตามกฎหมายต่างประเทศ
  3. ทำให้ทราบถึงแนวทางที่เหมาะสมและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากฎหมายและเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษของประเทศไทย
การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ กรณีการศึกษาดังกล่าว ส่งผลทำให้ทราบถึงปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาของประเทศไทยนั้นเกิดจากหลายปัจจัยหลายองค์ประกอบ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในรายละเอียดที่กำหนดไว้ จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกกำหนดและออกแบบไว้อย่างดีเป็นไปตามหลักสากล แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อมีการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2546 ฉบับนี้มาใช้บังคับตามเจตนารมณ์แล้ว ก็จะพบว่ารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2546 ฉบับนี้ อาจยังไม่เหมาะกับโครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรมของสังคมไทยในขณะนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาของการมาตรการพิเศษของประเทศไทยในการให้ความคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา ดังต่อไปนี้           ปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานในคดีอาญาของประเทศไทย ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่มีญาติพี่น้องอยู่ด้วยกันเป็นอย่างมาก แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจจะถือเป็นประเทศแม่แบบของการนำกฎหมายคุ้มครองพยานมาปรับใช้ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันจะแตกต่างกัน โดยในต่างประเทศจะมีเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ แยกครอบครัวกันอย่างชัดเจน ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับครอบครัวจึงไม่มีความผูกผันเหมือนดังลักษณะครอบครัวไทย ดังนั้น การรักษาความลับ หรือกระทำการต่างๆ ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานฉบับนี้กำหนดไว้ ย่อมเป็นอุปสรรค และจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้มาตรการพิเศษได้ รวมถึงการขาดการประชาสัมพันธ์ไม่เป็นที่แพร่หลายไม่เป็นที่นิยมใช้ มีกระบวนการพิจารณาอนุมัติที่ค่อนข้างซับซ้อน บุคลากรของหน่วยงานคุ้มครองพยานค่อนข้างมีจำนวนน้อย ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน กับทั้งการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานไปใช้นั้นก็ยังติดขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่น และอีกประการหนึ่งขาดงบประมาณที่จะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้พยานมีอาชีพและมีรายได้ที่ถาวร เป็นต้น จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการกำหนดประเภทคดีที่เป็นเงื่อนไขการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามมาตรา8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานฉบับนี้ไม่ได้มีการระบุมูลฐานความผิดให้ครอบคลุม และคดีแต่คดีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นคดีสำคัญหรือเกี่ยวโยงกับกลุ่มอิทธิแต่อย่างใด ไม่มีการประเมินคดีว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะเข้าสู่โครงการพิเศษแต่อย่างใด เป็นต้น และหากพิจารณาในส่วนของอนุมาตรา 5 ที่กำหนดให้คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ความผิดที่ระบุโทษจำคุกต่ำกว่าสิบปี เช่นคดีฉ้อโกง ก็อาจเป็นคดีรุนแรงร้ายแรงหรือเกี่ยวกับอาชญากรรมและอาจเหมาะสมที่จะนำมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานมาใช้บังคับได้ ดังนั้นการกำหนดประเภทของคดีที่จะสามารถได้รับการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ปัจจุบันแม้ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 จะได้มีการกำหนดประเภทคดีที่เป็นเงื่อนไขการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญาไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการพิเศษดังกล่าวอยู่นั่นเอง ปัญหาเกี่ยวกับอุปสรรคในการบังคับใช้มาตรการพิเศษตามที่ปรากฏในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 นั้นมี 7 มาตรการ ซึ่งบางมาตรการก็เป็นเรื่องที่ดี เช่นการย้ายที่อยู่หรือการจัดหาที่พักอันเหมาะสมให้แก่พยาน   ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีและเหมาะสมอย่างยิ่งกับสังคมไทย เพราะการย้ายที่อยู่หรือการหาที่อยู่ใหม่ให้กับพยาน ต่างเป็นเรื่องที่นานาประเทศก็ได้กระทำกัน สำหรับประเทศไทยยิ่งการย้ายที่อยู่ของพยานถือเป็นการลดการเผชิญหน้าระหว่างกัน ก็ยิ่งเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกๆ ฝ่าย สังคมไทยนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มอาชญากรรมที่จะติดต่อหรือจะล้างแค้นถึงขนาดติดตามไปทุกหนทุกแห่งค่อนข้างน้อย ดังนั้นการย้ายที่อยู่จึงเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับมาตรการอื่น โดยเฉพาะมาตรการที่ 3 หรือมาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการการจ่ายค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อยไม่จูงใจพยานหรือบุคคลที่พยานร้องขอให้คุ้มครอง หรือการประสานงานให้หน่วยงานอื่นๆ มาอบรมวิชาชีพต่างๆ เห็นว่าปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้มาตรการพิเศษตามที่ปรากฏในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 นั้นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในรูปแบบหรือในตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องยากที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้กำหนดถึงวิธีการต่างๆเกี่ยวกับปัญหาที่มีผลกระทบทั้งภาคเอกชนและภาคหน่วยงานรัฐ รวมถึงกรณีการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนก็จะไปขัดกับกฎหมายอื่น และในการนี้ประเทศไทยถือเป็นรัฐเดียวที่มีการปกครองภายใต้กฎหมายฉบับเดียวมีพื้นที่อาญาบริเวณประมาณห้าแสนตารางกิโลเมตรเท่านั้น หาใช่ประเทศกว้างขวางเหมือนกับนานาประเทศ ดังนั้นการกำหนดรูปแบบสำหรับการใช้มาตราพิเศษตามมาตรา 10(3) ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อสกุลนั้นจะเห็นได้ชัดว่าการกำหนดรูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะใช้ได้หรือไม่นั้นก็ควรที่จะมีการพัฒนาหรือประสานงานแต่ละองค์กรเพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ แต่หากจะลองอนุมานต่อไปถึงกรณีดังกล่าวว่า หากสามารถที่จะเปลี่ยนชื่อสกุลหรือเอกสารต่างๆได้ตามวัตถุประสงค์แล้ว  แต่ปัญหาดังกล่าวก็หาได้ที่จะยุติ  กล่าวคือด้วยความเป็นจริงว่าเวลาคนร้ายหรือกลุ่มอิทธิพลจะตามหาตัวพยานหรือบุคคลที่พยานร้องขอกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้ไปถามชื่อสกุลแต่ประการใด คงนำรูปภาพหรือภาพถ่ายไปสอบถามเท่านั้น ปัญหาเกี่ยวกับการการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานในคดีอาญาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและควรได้รับการศึกษาว่าการประสานงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่กับการให้ความคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา โดยในปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบประสานที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มีเพียงการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงานการให้ความคุ้มครองพยานในคดีอาญาร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแต่บันทึกดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการร้องขอและขั้นตอนการการใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา พื้นฐานโครงสร้างของสังคมไทย นั้นคนไทยค่อนข้างเป็นคนที่ชอบเกรงใจ  คนไทยมักจะไม่ชอบที่จะไปยุ่งเกี่ยวหรือไปร้องขอ  แต่มาตรา 9 เป็นบทบัญญัติที่การอนุมัติ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณา แน่นอนย่อมจะมีความเหมือนกันกับต่างประเทศ  แต่การกำหนดให้สิทธิขาดอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจจะไม่ค่อยมีความเหมาะสมเพราะรัฐมนตรีว่าการนั้นมาจากฝ่ายบริหารซึ่งเป็นนักการเมือง  ซึ่งบุคคลหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณาควรมีความเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร และหากพิจารณาในส่วนของบุคคลที่ได้รับมอบหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคแรก ประกอบกับวรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถมอบอำนาจได้บุคคลอื่นสามารถทำหน้าที่ในการพิจารณาแทนตนเองได้แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากยังไม่มีกฎกระทรวงที่กำหนดวิธีการมอบอำนาจของรัฐมนตรี                                                                 เอกสารอ้างอิง หนังสือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ.  (2550).  ร่างคู่มือการประสานการส่งต่อพยานให้กับสำนักงาน  ตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจในการคุ้มครองพยาน. กรุงเทพฯ: กระทรวงยุติธรรม.  (2553).  คู่มือการปฏิบัติงานสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเรื่อง การร้องขอคุ้มครอง    ความปลอดภัยพยานในคดีอาญา. กรุงเทพฯ: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. กุลพล  พลวัน.  (2538).  พัฒนาการแห่งสิทธิมนุษยชน (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพฯ: วิญญูชน. กุลพล  พลวัน.  (2547).  สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก.  กรุงเทพฯ: นิติธรรม. เข็มชัย  ชุติวงศ์.  (2529).  คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพฯ:นิติบรรณาการ. คณิต  ณ นคร.  (2528).  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. กรุงเทพฯ: เนติธรรม. คณิต  ณ นคร.  (2540).  ปัญหาในการใช้ดุลพินิจของอัยการ ใน รวมบทความด้านวิชาการของ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นครอัยการสูงสุด.  กรุงเทพฯ: พิมพ์อักษร. ณรงค์  ใจหาญ และคณะ.  (2521).  โครงการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546. ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย กรุงเทพฯ: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. ปกป้อง  ศรีสนิท.  (2553).  ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในวิธีพิจารณาความอาญา. ใน ยืนหยัดบนหลักนิติธรรม (ในโอกาสครบรอบ 72  ปีศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร). กรุงเทพฯ:เดือนตุลา. ประเสริฐ  เมฆมณี.  (2523).  ตำรวจและกระบวนการยุติธรรม. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์. มานิต  จุมปา.  (2541).  รัฐธรรมนูญใหม่มีอะไรใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ: เดือนตุลา. สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. (2553).  คู่มือ     หลักเกณฑ์การใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง    พยานในคดีอาญา พ.ศ. 2456 .กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. บทความ กฎหมายคุ้มครองพยาน.  (2544, กรกฎาคม).  “ความฝันที่ยังอยู่ไกลจากกระบวนการยุติธรรมไทย.”     สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์6.  น. 13. ดรุณ  โสตถิพันธ์.  (2525, มีนาคม).  การบริหารงานกระบวนทางยุติธรรมทางอาญา.วารสารอัยการ, ปีที่ 5, ฉบับที่ 51. ประธาน  วัฒนวาณิชย์.  (2520).  ระบบความยุติธรรมทางอาญา: แนวความคิดเกี่ยวกับการควบคุม อาชญากรรมและกระบวนการนิติธรรม. วารสารนิติศาสตร์, 9, 2.  น. 147. พนิดา   เศวตสุนทร.  (2543, มกราคม-เมษายน).  “การสืบพยานบุคคลในคดีอาญาโดยใช้สื่อภาพและเสียงเชิงปฏิสัมพันธ์”  ดุลพาห, ปีที่ 47, เล่มที่ 1.  น. 30. วันชัย  รุจนวงศ์.  (2537, พฤศจิกายน).  “มาตรการคุ้มครองพยานบุคคล” วารสารอัยการ, ปีที่ 17,ฉบับที่ 201.  น. 101. สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล และคณะ.  (2547).  รายงานการศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาและพัฒนา      กฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สอดคล้องกับ       หลักสิทธิพื้นฐานพันธกรณีระหว่างประเทศรวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.              กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วิทยานิพนธ์ ประยุทธ  แก้วภักดี.  (2542).  การคุ้มครองความปลอดภัยของพยานบุคคลในคดีอาญา.           วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มนิมนา  สุทธิพงศ์เกียรติ์.  (2552).  การคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา: ศึกษากรณีบทบาทศาล ยุติธรรม.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เมทินี  ชโลธร.  (2543).  การปฏิบัติต่อพยานบุคคลในคดีอาญา.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ราเมศ  พรหมเย็น.  (2552).  ปัญหาการปฏิบัติต่อพยานในคดีอาญา ศึกษากรณี: การปฎิบัติที่เหมาะสมต่อ  พยานในชั้นพนักงานสืบสวนสอบสวน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วรรณพร  สิทธิกรวงศ์.  (2552).  การคุ้มครองพยาน: ศึกษากรณีการนำมาตรการฉุกเฉินมาปรับใช้.   วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศิระ รัตตานุกูล.  (2549).  การคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.           2546 เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่          จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 ข้อ 24.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. เอนก  อะนันทวรรณ.  (2544).  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย: ศึกษากรณีคุ้มครองพยานใน         คดีอาญา.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง. รายงานการวิจัย ประธาน  วัฒนวาณิชย์.  ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์  และวันชัย  รุจนวงศ์.  (2545).  รายงานการศึกษาวิจัย     เรื่องการพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (ระยะที่ 1). สำนักงานอัยการสูงสุด. วีระพงษ์  บุญโญภาส  และคณะ.  (2547).  การบริหารจัดการระบบงานคุ้มครองพยานของสำนักงานคุ้มครองพยาน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา. พ.ศ. 2546.  เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการศึกษาวิจัย วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ห้อง Gezanne renoir ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์. วีระพงษ์  บุญโญภาส และคณะ.  (2547).  โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการระบบงาน คุ้มครองพยานของสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. วีระพงษ์  บุญโญภาส และเกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์.  (2547).  โครงการศึกษาวิจัยเรื่องโทษทาง อาญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่ง  ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (รายงานวิจัย).  กรุงเทพมหานคร: สภาทนายความ. วีระพงษ์  บุญโญภาส และคณะ. (2551).  รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำร่างกฎหมาย            เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่พยานในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการและ      ศาล. สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามพระราชบัญญัติ       คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมคุ้มครองสิทธิ     และเสรีภาพ (รายงานวิจัย).  กรุงเทพฯ: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. สารสนเทศจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สุพิศ  ประณีตพลกรัง.  (2554).  การค้นหาความจริงในกฎหมายลักษณะพยานและการคุ้มครอง            พยานในคดีอาญา เอกสารประกอบการสอนชุดวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา    และพยานชั้นสูง  หน่วยที่ 10, จาก http://www.stou.ac.th/schools/slw/ upload/ 41717-       unit-10.pdf . อำนาจ  เนตยสุภา.  “องค์กรอาชญากรรม/การคุ้มครองพยานในประเทศเยอรมัน” สถาบันกฎหมาย      อาญา  สำนักงานอัยการสูงสุด, จาก www.institute.ago.go.th/backupweb/upload/…/          11080811845.doc . อุทัย อาทิเวช.  ระบบการดำเนินคดีอาญา: ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน, จาก     http://www.stou.ac.th/schools/slw/upload/41717-unit%202.pdf.                                                                 ภาษาต่างประเทศ BOOKS Nora V. Demleitner.(1998). Witness protection in criminal cases: anonymity.disguise or other    options?. American Journal of Comparative Law. vol. 46. StjepanGluˇsˇ ciˇc and others.  (2006).  Protecting Witnesses of Serious Crime: Training Manual for Law   Enforcement and Judiciary (Strasbourg.Council of Europe Publishing) United Nations.Good Practicesfor the Protectionof Witnesses in CriminalProceedings   Involving Organized Crime 2008. New York. 2008. ARTICLES Anne Katharina Zimmermann, Securing Protection and Cooperation of Witnesses And Whistle-   Blowers, An Overview of the Law as it stands in Germany. Antimafia: The Italian Experience in Fighting Organised Crime, Center for Study of Democracy, 2011 Australian Federal Police (AFP), Witness Protection Annual Report 2011-12 Charlotte AnnighöferSophie Raseman, German Protection and Assistance Policy Regarding       Foreign Women Sold into Sex Slavery in Germany Council of Europe . “Replies to the Questionnaire on Protection of Witness and Pentiti Inrelation to Acts of Terrorism” (Germany). Council of Europe . “Replies to the Questionnaire on Protection of Witness and Pentiti Inrelation to Acts of Terrorism” (Italy). FaustoZuccarelli, “Handling and Protecting Witnesses and Collaborators of Justice. The European              Experience”,UNDP-POGAR Regional Workshop on “Witness and Whistleblower Protection”,Rabat, Marocco, 3 April 2009 , Available FaustoZuccarelli, Handling and Protecting Witnesses and Collaborators of Justice Germany: Parliamentary Commission fails solving the “Nazi-Terror”,    Italy’s Secret Anti-Mob Weapon: Witness Protection, Johan Peter Wilhelm Hilger. Organized Crime/Witness Protection in Germany.in UNAFEI Resource Material Series No. 58. 2001. at 99; Special Investigative Tools to Combat Transnational Organized Crime (TOC). in UNFEI Resource Material Series No. 58. 2001. at 245. Joseph Wheatley, The Hamburg 9/11 Terrorism Trials: Prospects for German Legal Reform and     Intelligence Sharing Karen Kramer, Witness  Protection as a Key Tool in Addressing Serious and Organized Crime  Mafiology: The woman who testified against her husband Markus Löffelmann, The Victim in Criminal Proceedings: A systematic Portrayal of Vicim Protection Under German Criminal Procedure Law MatildeVentrella, Protecting Victims of Trafficking in Human Beings in the UK: the Italian          ‘Rimini Method” That Could Influence the British Approach Martina Peter, Measures to Protect Victims in German Criminal Proceedings: A summary with       Special Focus on the Key Points of the Second Victim’s Rights Reform Act Nicholas Fyfe and James Sheptycki. Facilitating Witness co-operation in Organised crime cases:  an international review. Home Office Online Report 27/05. p.4 Peter J.P. Tak, Deals with Criminals: Supergrasses, Crown Witnesses and Pentiti Prof. Dr. GertVermeulen, EU Standards in Witness Protection and Collaboration with Justice, IV.   Comparative Study, A. Italy: Legislation and B. Italy: Survey Rachel A. Van Cleave, Rape and the Querela in Italy: False Protection of Victim Agency Rosa Raffaelli, The European Approach to the Protection of Trafficking Victims: The Council of Europe Convention, the EU Directive and the Italian Experience Sylvia Frey, Victim Protection in Criminal Proceedings: The Victim’s Rights to Information, Participation and Protection in Criminal Proceedings Susanne Walther, Professor, University of Cologne, Germany, Victims’ Rights in the German  Court System The Witness Security Program was authorized in 1970 by The Organized Crime Control Act of 1970 and The Comprehensive Crime Control Act of 1984. U.S. Department of Justice, Office for Victims of Crime,  Attorney General Guideline for Victim   and Witness Assistance, 2005 , JUDGMENT Doorson v.The Netherlands.Judgment of  26 March 1996. Application No. 20524/92.Reports        1996-II.paras. * นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 1  ดุษฎีนิพนธ์นิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปีการศึกษา 2556 โดยมีรศ.ดร.วีระ โลจายะ,ศ.วีระพงษ์ บุญโญภาส และดร.อุทัย อาทิเวช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา E-mail ผู้เขียน monchai1@yahoo.com